สังคม

ชาวปากช่อง ยื่นหนังสือคัดค้าน อนุญาตเปิดเหมืองหินอ่อน หวั่นกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

โดย paweena_c

18 ก.ค. 2565

76 views

ชาวตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง เดินทางมายื่นหนังสือถึงกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อคัดค้านการเปิดเหมืองหินอ่อน ตามที่เอกชนรายหนึ่งยื่นขอประทานบัตรไว้ เพราะกังวลว่า จะเกิดผลกระทบต่อการพัฒนาของอำเภอปากช่อง ที่มุ่งเน้นด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ มากกว่าจะเป็นเมืองอุตสาหกรรม


ขณะรองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่โครงการนี้จะเข้าสู่การลงประชามติของคนในหมู่บ้านว่า จะให้เดินหน้าต่อไปหรือไม่ คุณมนตรี อุดมพงษ์ มีรายละเอียดครับ


ตัวแทนชาวตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง พร้อมป้ายที่แสดงเจตนาคัดค้านเหมืองหินอ่อน รวมตัวไปที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรม และขอข้อมูล กรณีเอกชนรายหนึ่งในพื้นที่ยื่นขอเปิดเหมืองหินอ่อนในพื้นที่ขอประทานบัตร เนื้อที่ราว 200 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 12 ตำบลหมูสี อ.ปากช่อง นครราชสีมา


ตัวแทนชาวบ้านวันนี้มีทั้งผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยว กลุ่มวิสาหกิจชุมชน นักอนุรักษ์ และคนมีชื่อเสียงอย่างนายสมจิตร จงจอหอ ก็เดินไปหาในนามของคนอำเภอปากช่อง ที่กังวลใจหากเกิดเหมืองหินอ่อนดังกล่าวขึ้น


รองอธิบกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นตัวแทนรับหนังสือ รับฟัง พร้อมชี้แจงว่ามีการยื่นคำขอทำเหมืองจริง และบริษัทได้ทำตามขั้นตอน คือการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ในรัศมี 500 เมตรของขอบเขตขอประทานบัตรไปเมื่อวันที่ 9 ที่ผ่านมา ซึ่งประชาชน 4 หมู่บ้านได้แสดงเจตนาค่อนข้างชัด


ขั้นตอนจากนั้นอุตสาหกรรมจังหวัด จะส่งรายงานจากเวทีรับฟังความเห็นดังกล่าวมาให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรพื้นฐานและการเหมืองแร่พิจารณา และหากเห็นว่าเป็นโครงการที่มีการคัดค้าน ก็จะวินิจฉัยให้ต้องลงประชาติ แต่การลงประชามติ จะมีสิทธิ์เฉพาะประชาชนในหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ตั้งของเหมืองหินอ่อนที่อยู่ระหว่างยื่นขอประทานบัตร และเป็นไปตามกฎหมายการลงประชามติ การที่เหมืองหินอ่อนจะเกิดได้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับผลการลงประชามติเป็นสำคัญ


ก่อนหน้านี้ในเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไป ซึ่งยังไม่มีการลงประชามตินั้น ความคิดเห็นส่วนใหญ่ เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือเห็นว่ากิจการเหมืองไม่ตอบโจทย์การเติบโตของตำบลหมูสีแล้ว


สำหรับเหมืองหินอ่อนที่อยู่ระหว่างขอเปิดเหมืองตั้งอยู่เขตหมู่ 12 ตำบลหมู่สี ซึ่งหากลงประชามติ จะเป็นหมู่นี้ที่ตัดสินว่าเหมืองหินอ่อนจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ก่อนหน้านั้น ที่เป็นเวทีรับความฟังความคิดเห็นกำหนดให้เป็นที่รัศมี 500 เมตร รอบขอบเขตสัมปทานบัตรไปถึง ทำให้มีหมู่บ้านเข้าร่วมเวที ถึง 4 หมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยืนยันว่าแม้มี เพียง 1 หมู่บ้านที่มีสิทธิ์ลงประชามติ แต่การเกิดขึ้นหรือไม่ของเหมืองหินอ่อน จะเปลี่ยนอนาคตของชุมชนโดยรอบทั้งหมดเป็นแน่



คุณอาจสนใจ