สังคม

พร้อมใช้แล้วภายในปีนี้! วัคซีน 'CHULA COV-19' ฝีมือคณะแพทย์ จุฬาฯ

โดย kodchaporn_j

10 มิ.ย. 2565

76 views

ข่าว 3 มิติ ยังติดตามประเด็นความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนจุฬา คอฟ 19 และ วัคซีนรักษามะเร็ง ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยวันนี้ ทางคณะก็ได้จัดงานเสวนาครบรอบ 75 ปี เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดของโครงการพัฒนาวัคซีน จุฬาคอฟ 19 ที่ผ่านมาเกือบ 3 ปี



ขณะนี้ พร้อมแล้วที่จะสามารถนำมาผลิตใช้ในประเทศได้ภายในสิ้นปีนี้ เช่นเดียวกับวัคซีนมะเร็งที่ขณะนี้เริ่มต่อยอดสู่การพัฒนายาแอนติบอดีสำหรับการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อมาใช้แทนยาแอนติบอดี้เดิมที่มีราคาสูงแล้ว ซึ่งคาดว่าต้องรออีก 4 ปี ถึงจะเห็นความสำเร็จนี้



คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเวทีเสวนา ครบรอบ 75 ปี แพทย์จุฬาฯ เพื่อคุณค่าของทุกชีวิต โดยเตรียมพร้อมพาคณะแพทยศาสตร์ เข้าสู่สังคมยุคนวัตกรรมที่ตอบโจทย์เรื่องการแพทย์ ซึ่งมี 2 ประเด็นที่มีความคืบหน้า นั่นคือ การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด 19 จุฬา คอฟ 19 และ วัคซีนรักษาโรคมะเร็ง



ศาสตราจารย์นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า เกือบ 3 ปี ของการพัฒนาวัคซีน จุฬาคอฟ 19 ล่าสุดได้ผลการทดสอบทางคลินิกในมุนษย์ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นที่น่าพึงพอใจ ให้ประสิทธิภาพที่เทียบเท่าวัคซีน mRna ยี่ห้ออื่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิตจากโรงงานในไทย



เพื่อนำมาใช้ทดสอบทางคลินิกในมนุษย์อีกครั้ง โดยคาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. ในภาวะฉุกเฉินได้ภายในปลายปีนี้ แม้ว่าจะมีการประกาศให้โควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้วก็ตาม ควบคู่ไปกับการพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 เพื่อครอบคลุมการแพร่ระบาดตามสถานการณ์ของโรคโควิด 19



ขณะเดียวกันทีมวิจัยและพัฒนายาแอนติบอดีและวัคซีนรักษามะเร็ง ก็มีความคืบหน้าของนวัตกรรมการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งจะช่วยทดแทนการรักษาแบบการใช้ยาแอนติบอดีรูปแบบเดิม ที่มีราคาสูง โดยขณะนี้ได้ขยายโครงการวิจัยเพิ่มเป็น 6 โครงการ คือ โครงการวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล ซึ่งต่อยอดสู่โครงการผลิตยาแอนติบอดีสำหรับการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบกับคนไข้ไปแล้ว 5 คน และจะดำเนินการต่อเนื่องให้ครบ 12 คนต่อไป



นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาวัคซีนชนิด mRNa รักษามะเร็ง โครงการเซลล์บำบัดต่อมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดขาว โครงการพัฒนาวิธีการเลี้ยงเซลล์มะเร็งในรูปแบบสามมิติ และโครงการศึกษาปัจจัยที่น่าจะมีผลต่อพยากรณ์การรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอด โดยการศึกษาการแสดงออกของยีนส์เมตาบอไลท์ในเลือด และยังมีโครงการต่อยอดพัฒนายาแอนติบอดีต่างๆ สำหรับการการรักษาโรคติดเชื้อ เช่นโควิด -19 และโรคภูมิแพ้ตนเอง อีกด้วย



อย่างไรก็ตามทีมวิจัยระบุว่า สำหรับโครงการพัฒนาแอนติบอดีและวัคซีนรักษาโรคมะเร็ง ยังต้องอาศัยระยะเวลามดสอบทางคลินิกอีกอย่างน้อย 4 ปี จึงจะเห็นผล ซึ่งขณะนี้การทดสอบเป็นไปในทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง

000000

คุณอาจสนใจ

Related News