ช่อง 3 ตามหาผู้ว่าฯ เลือกตั้ง

23 ผู้สมัคร "ผู้ว่าฯ กทม." เปิดวิสัยทัศน์ผ่านเวที “กรุงเทพฯ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

โดย pattraporn_a

3 พ.ค. 2565

70 views

23 ผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเวทีเปิดวิสัยทัศน์ว่าด้วยนโยบายสิทธิมนุษยชน กรุงเทพเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่จัดโดย 13 องค์กร


เวทีเปิดวิสัยทัศน์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยนโยบายสิทธิมนุษยชน กรุงเทพเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งจัดโดย 13 องค์กร ต้องเปลี่ยนสถานที่จาก ลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร มาเป็น ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสุโกศล


เนื่องจาก สำนักงานเขตปทุมวัน ไม่อนุญาตให้จัดงาน โดยระบุว่าผู้จัดไม่มีมาตรการป้องกันโรคโควิดเพียงพอในพื้นที่โดยรอบการจัดการ ในขณะที่ผู้จัด ยืนยันว่าได้รับอนุญาตให้เช่าสถานที่จากหอศิลป์กรุงเทพแล้ว และได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องเสียงจากตำรวจ สน.ลุมพีนี แล้ว


รวมทั้งมีมาตรการป้องกันโรคโควิดในพื้นที่จัดงานและบริเวณสกายวอล์ค รถไฟฟ้าบีทีเอส ตามที่เขตปทุมวัน ให้ทำเพิ่มเติมแล้ว แต่ไม่สามารถทำฉากกั้นความสูง 2 เมตร และทำผ้าคลุมไม่ให้มองเห็นจากบีทีเอสได้ เพราะเวลากระชั้นชิดมากไป อีกทั้งที่ผ่านมาการจัดเวทีลานหน้าหอศิลป์ ไม่มีการทำลักษณะนี้มาก่อน และก่อนหน้านี้มีสื่อจัดเวทีดีเบตที่ลานห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งได้ รวมถึงผู้สมัครที่เปิดเวทีปราศัยใหญ่


จึงเห็นว่า สำนักงานเขต และกรุงเทพมหานคร ไม่ควรเลือกปฏิบัติ และควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะได้รับฟังวิสัยทัศน์ของว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และควรมีพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้มีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองด้วย ตามข้อเสนอของกลุ่มม็อบดาต้าไทยแลนด์ ซึ่ง ต้องเปิดพื้นที่อย่างเท่าเทียมกับทุกกลุ่ม


นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอปัญหาระบบสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ที่กลุ่มเส้นด้าย ตั้งคำถามว่าจะทำให้ระบบราชการของ กทม.ทำงานได้รวดเร็วขึ้น และทำอย่างไรให้องคาพยพของ กทม.ทั้งข้าราชการในสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และสำนักงานเขตต่างๆทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ส่วนปัญหาคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน มูลนิธิอิสรชน ตั้งคำถามไปถึงการดูแลประชากรแฝง และคนจนเมือง รวมถึงผู้ป่วยจิตเวชบนถนน และผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ หลงออกจากบ้าน ควรมีการจัดการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม


ในขณะที่สโมสรนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนิสิตรีคอร์ดเดอร์ ตั้งคำถามถึงอนาคตของคนรุ่นใหม่ เช่นการเปลี่ยนแปลงของสังคมเมืองที่มีการหลั่งไหลของผู้อาศัยและธรุกิจที่ร่ำรวยล้อมลอบชุมชนดั้งเดิม จนเกิดค่าครองชีพสูง และการไล่รื้อที่อยู่อาศัย สร้างกำแพงทางชนชั้นทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม


โดยผู้สมัคร 23 คน มีหลากหลาย ทั้งผู้สมัครอิสระ ผู้สมัคร ผู้หญิง และผู้สมัครที่อาจได้รับโอกาสในสื่อมาก ต่างได้แสดงวิสัยทัศน์ในเวทีนี้ร่วมกันเป็นครั้งแรก


ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพแและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอบคุณผู้สมัครทั้ง 23 คนที่เห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ซึ่งอยากเห็นกรุงเทพมหานครมีพื้นที่แห่งความเท่าเทียม


ดร.เบ็ญจรัตน์ แซ่ฉั่ว รองผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหดิล อยากเห็น กรุงเทพเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิทธิมนุษยชน และให้ความสำคัญกับคนทุกชนชั้น


ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้ำว่า เวทีนี้เป็นจุดเริ่มต้น ที่ผู้ว่าฯกทม.จะต้องจัดเก็บข้อมูลต้องรู้ความต้องการคนทุกกลุ่ม และต้องไปแก้ข้อบัญญัติของกทม.ที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเมือง รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน


นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เห็นว่า ผู้ว่าฯกทม.จะต้องเป็นผู้นำที่ทำให้กรุงเทพเปนเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งยังมีอีกหลายปัญหาเช่น การทำแท้ง ความหลกหลายทางเพศ ผู้ลี้ภัยในเมือง ที่ยังไม่เคยมีการพูดถึง


ทั้งนี้ คำถามถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ ถูกถามขึ้นบนเวที โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่คือ การจัดพื้นที่ชุมนุม ซึ่งเป็นการแสดงออกทางความคิดเห็นขั้นพื้นฐานตามประชาธิปไตย


โดยผู้สมัครต่างแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือการสนับสนุนให้จัดการชุมนุมได้ ภายใต้กฎหมาย โดยกรุงเทพมหานครต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกด้านระบบสาธารณูปโภคให้กับประชาชน เช่น ห้องน้ำ ไฟส่องสว่าง การรักษาความสะอาดในพื้นที่ และความปลอดภัยจากระบบกล้องวงจรปิด


ขณะที่การจัดงานในวันนี้ต้องย้ายจากสถานที่เดิม คือ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มายังโรงแรมสุโกศล ทำให้ผู้สมัครทุกคนแสดงความเสียดายถึงผลประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ ที่จะได้รับฟังวิสัยทัศน์ด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความสำคัญต่อชีวิตของทุกคน


นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้สมัครหมายเลข 8 มองว่า กรุงเทพมหานครควรมีพื้นที่ที่จัดชุมนุมสาธารณะได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงอาศัยข้อกำหนดตามมาตร พรบ. การชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 ที่ให้หน่วยงานราชการกำหนดพื้นที่ชุมนุมสาธารณะได้ โดยมีกรุงเทพมหานครคอยอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม


เช่นเดียวกับ นายวิโรจน์ ลักขณาดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1 ที่มองว่าทุกคนควรมีสิทธิใช้พื้นที่สาธารณะในการแสดงออกทางความเห็น


ด้าน ดร.สุชัชวีร์ มองว่า เสียดายโอกาส และ พื้นที่แสดงศักยภาพของกรุงเทพหานคร ซึ่งพื้นที่เดิมเป็นพิ้นที่คนพลุกพล่าน ทำให้คนเลือกที่จะเข้ารับฟังความเห็นต่างๆ ได้ดี


เวทีแสดงวิสัยทัศน์ในวันนี้ได้มีข้อเสนอต่อว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในด้านสิทธิมนุษยชนให้เกิดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อคนกรุงเทพฯ ให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีหัวใจด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง




คุณอาจสนใจ

Related News