เลือกตั้งและการเมือง

ประมวลบรรยากาศวันแรก รับสมัครผู้ท้าชิงผู้ว่าฯกทม.-นายกเมืองพัทยา

โดย panwilai_c

31 มี.ค. 2565

46 views

บรรยากาศการรับสมัครผู้ชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เปิดรับวันนี้เป็นวันแรก ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกครั้ง หลังห่างหายมานานกว่า 9 ปี เช่นเดียวกับการรับสมัครผู้ชิงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา ที่เปิดรับสมัครในวันนี้เช่นกัน



วันนี้ (31 มี.ค. 65) วันแรกของการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. มีผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 20 คน ซึ่งแต่ละคนได้มาจับสลากหมายเลขประจำตัวกันเรียบร้อย ได้แก่



หมายเลข 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร

หมายเลข 2 พันโทหญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล

หมายเลข 3 นายสกลธี ภัททิยกุล

หมายเลข 4 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

หมายเลข 5 นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนา

หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

หมายเลข 7 นางสาวรสนา โตสิตระกูล

หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

หมายเลข 9 นางสาววัชรี วรรณศรี

หมายเลข 10 ดร.ศุภชัย ตินติคมน์

หมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี

หมายเลข 12 ดร.ประยูร ครองยศ

หมายเลข 13 นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์

หมายเลข 14 นายธเนตร วงษา

หมายเลข 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที

หมายเลข 16 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์

หมายเลข 17 นายอุเทน ชาติภิญโญ

หมายเลข 18 นางสาวสุมนา พันธุ์ไพโรจน์

หมายเลข 19 นายไกรเดช บุนนาค

หมายเลข 20 นางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ



โดยมีผู้สมัครอายุมากที่สุด 72 ปี อายุน้อยที่สุด 43 ปี



ขณะที่ในส่วนของผู้สมัคร ส.ก. ทั้ง 50 เขต มีผู้สมัครรวมจำนวน 327 คน เขตที่มีผู้สมัครมากที่สุด 9 คน ได้แก่ เขตธนบุรี เขตจอมทอง เขตวังทองหลาง เขตที่มีผู้สมัครน้อยที่สุด 5 คน ได้แก่ เขตดุสิต เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย



ส่วนบรรยากาศการรับสมัครรับเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยาวันแรก ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีผู้มาลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วถึง 4 กลุ่ม คือ หมายเลข 1 นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ หมายเลข 2 นายศักดิ์ชัย แตงฮ่อ หมายเลข 3 นายกิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย หมายเลข 4 นายสินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร ส่วนหมายเลขผู้สมัครสมาชิกสภาเมืองพัทยา จะเป็นหมายเลขเดียวกับผู้สมัครนายกเมืองพัทยา



การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนับจากนี้ ก็จะเปิดรับสมัครผู้รับเลือกไปจนถึงวันที่ 4 เมษายน 2565 จากนั้นวันที่ 11 เมษายน จะเป็นวันประกาศผู้สมัครทั้งหมดอย่างเป็นทางการ และจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง วันที่ 26 เมษายน ก่อนจะมีการเลือกตั้ง ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เวลา 08.00 น.- 17.00 น.



การเลือกตั้งจะแบ่งเขตเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครเป็น 50 เขต เป็นการเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 1 คน และ ส.ก.อีก 50 คน ใช้บัตรลงคะแนน 2 ใบ แบ่งเป็นบัตรลงคะแนนผู้ว่าฯ กทม. 1 ใบ และ ส.ก. 1 ใบ ซึ่งจะมีสีบัตรต่างกัน โดยผู้ว่า กทม. ที่ได้รับเลือกจะดำรงตำแหน่งสมัยละ 4 ปี ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 สมัย



การสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในรอบ 9 ปี มีความน่าสนใจ ทั้งในตัวผู้สมัคร และนโยบายที่เสนอเป็นทางเลือกให้กับคนกรุงเทพ และยังมีผู้สมัครอิสระ มาลงสมัครจำนวนมากกว่า พรรคการเมืองที่มีเพียง 3 พรรคการเมือง



นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปั่นจักรยานมาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก่อนจับได้หมายเลข 8 ซึ่งยอมรับว่าพอใจไม่ว่าจะเป็นหมายเลขใด เพราะสิ่งที่ดีใจที่สุดคือการได้เลือกตั้ง และยังยืนยันว่าลงสมัครในนามอิสระ กลุ่มเพื่อนชัชชาติ ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย แต่พร้อมทำงานกับ ส.ก.ทุกพรรค และย้ำในความเป้นตัวตนที่จะไม่ใช้ป้ายหาเสียงเพียงแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นการหาเสียงตามแนวคิด หาเสียงแบบรักเมือง เช่นการใช้รถ อีวี ประหยัดพลังงาน ลดค่าพีเอ็ม 2.5 และดีเดย์ปล่อยขบวนรถไฟฟ้าหาเสียง ก่อนจะโดยสารรถบีทีเอส ไปยังย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและย่านสีลมใจกลางเศรษฐกิจ ก่อนจะไปสะท้อนปัญหาที่ปากคลองตลาด ที่มีการนำป้ายหาเสียงมาห่อดอกไม้ด้วย กลายเป็นการต้อนรับที่นายชัชชาติ ยอมรับว่า อบอุ่น



ส่วน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ได้หมายเลข 1 ยอมรับว่า ถูกใจ เพราะหมายถึงประชาชนคนกรุงเทพจะเป็นที่หนึ่ง ตามสโลแกน คืนเมืองให้คนเท่ากัน โดยนายวิโรจน์ ได้ใช้รถเมล์ในการหาเสียง สะท้อนถึงสิทธิในการใช้บริการสาธารณะ และไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ยืนยันถึงอุดมการณ์ทางการเมือง



ขณะที่ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้หมายเลข 4 ยอมรับว่าเป็นเลขที่ ชอบ และมีความหมายต่อการเปลี่ยนกรุงเทพตามสโลแกน ที่วันนี้ได้ลุยหาเสียงย่านหลักสี่ แสดงความมั่นใจ แม้จะถูกกระแสโจมีตีอย่างต่อเนื่อง



สำหรับ นาวาอากาศตรีศิธา ทิวารี ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย จับได้หมายเลข 11 ยอมรับว่า เป็นหมายเลขที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย คาดหมายมาแต่ต้น และส่วนตัวในฐานะอดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองการได้หมายเลขนี้ เหมือน การเริ่มต้นงานการเมืองใหม่ ที่จะกลับมาเป็นที่ 1 ซึ่งส่วนตัวไม่หวั่นที่เปิดตัวช้าเพราะเป็นอดีตส.ส.ที่ทำงานการเมืองมากว่า 22 ปีแล้ว ขณะที่วันนี้การขึ้นขบวนแห่ไปทั่วเมืองกรุงเทพ ได้เสียงตอบรับที่ดี และมั่นใจว่าการเลือกตั้งที่พรรคส่ง ส.ก.ครบ 50 เขตจะส่งผลดี



สำหรับ นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ จับได้หมายเลข 3 ซึ่งในฐาะอดีต กปปส.ทำให้ นายสกลธี ถูกจับตาการทำสัญลักษณ์หมายเลขที่หลีกเลี่ยงการทำสัญลักษณ์สามนิ้ว แต่นายสกลธี ก็ชอบหมายเลขนี้ที่คล้องกับชื่อตัวเองว่า สกลทรี ที่หมายถึงเลข 3 แม้ต้องแข่งกับพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง แต่เชื่อว่าจะพิสูจน์ความสามารถได้



นอกจากผู้สมัครตัวเต็ง ที่มี พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่วันนี้นั่งรถสามล้อมาลงรับสมัคร ยังมีผู้สมัครอิสระ แต่พวกเขายืนยันว่าพร้อมเป็นทางเลือกให้ประชาชน เช่น พันโทหญิง ฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล หมายเลข 2 เป็นทหารหญิงที่เป็นผู้พิการ ​ดร.ศุภชัย ตันติพงษ์ ผู้สมัครหมายเลข 10 ดร.ประยูร ทองยศ ผู้สมัครหมายเลข 12 และนายวีระชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ผู้สมัครหมายเลข 5 ที่ขอโอกาสจากประชาชน



การรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่รอคอยมา 9 ปี วันนี้นอกจากคึกคักแล้วประชาชนยังเห็นการเสนอนโยบายที่เป็นทางเลือกให้คนกรุงเทพในฐานะเมืองหลวงของประเทศไทย

คุณอาจสนใจ

Related News