เลือกตั้งและการเมือง

ครอบครัวเบรก 'อุ๊งอิ๊ง' นั่งนายกฯ ชี้อายุยังน้อย รอ 'ทักษิณ' ส่งสัญญาณกลับไทย คาดยังเป็น ก.ค.

โดย nattachat_c

8 มิ.ย. 2566

18 views

วานนี้ (7 มิ.ย. 66) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะกลับมาประเทศไทย ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ว่า


ตอนนี้ ยังไม่มีการประสานอะไรให้ตนทราบเพิ่มเติม แต่คิดว่าแพลนการกลับมาของคุณพ่อก็น่าจะค่อยๆ คืบหน้าไป และใกล้กำหนดการจะกลับมาสู่กระะบวนการยุติธรรม ซึ่งคุณพ่อก็น่าจะจัดการอยู่


แต่ในส่วนของครอบครัว ก็คงจะต้องเตรียมความพร้อมไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย ความสะดวกสบายและการต้อนรับ ซึ่งเราก็คิดไว้หลายแบบ แต่ก็พยายามคิดด้านบวกเอาไว้ หลักๆ ก็เป็นเรื่องของความปลอดภัย คงไม่มีอะไรมากมาย รอให้ใกล้กว่านี้ให้คุณพ่อส่งสัญญามาว่าจะให้เราเตรียมอะไรบ้าง ตอนนี้เราเตรียมโดยไม่มีหลักการ เพียงแค่จะต้อนรับกลับบ้าน


เมื่อถามย้ำว่า ยังเป็นกำหนดการเดิมในเดือนกรกฎาคมไม่มีการเปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่

นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า “คิดว่านะคะ ยังเป็นเดือนกรกฎาคมอยู่ แต่ต้องดูสถานการณ์ประกอบด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่ล่าสุดที่คุยคือยังเป็นกรกฎาคมอยู่ แต่ต้องดูสถานการณ์ด้วย หรือกลับมาแล้วขณะนั้นเวลาเหมาะสมหรือไม่ ”


ถามต่อว่า สถานการณ์ทางการเมือง ถือเป็นปัจจัยหลักหรือไม่ ในการตัดสินใจการกลับมาหรือไม่

นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า คุณพ่อต้องดูด้วย ซึ่งก็อยากให้กลับมาแล้วเป็นเรื่องดีๆ ไม่อยากกลับมาแล้วกำลังมีความวุ่นวายอยู่ และต้องดูเวลาที่เหมาะสม


และแม้ว่าในเดือนกรกฎาคม การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่สำเร็จ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ ก็ไม่น่ามีผลต่อการกลับบ้านของคุณพ่อ เพราะคุณพ่อให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล คุณพ่อก็จะกลับมากระบวนการยุติธรรม


เมื่อถามว่า คุณพ่อได้บอกเหตุผลหลักๆ หรือไม่ว่า ทำไมจะต้องกลับมาในเดือนกรกฎาคม

นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ไม่แน่ใจ แต่คิดวาคุณพ่อน่าจะชอบเดือนนี้อยู่แล้ว เพราะเป็นเดือนเกิด และที่ผ่านมา ไม่ว่าคุณพ่อจะทำอะไร ก็จะยึดวันเกิดคนในครอบครัว

-------------

วานนี้ (7 มิ.ย. 66) มีรายงานข่าวว่า คุณหญิง พจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยานาย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้นัดคนในครอบครัวรับประทานอาหารร่วมกัน ประกอบด้วย นางพินทองทา ชินวัตรคุณากรวงศ์ พร้อมสามี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ภายหลัง นางสาวแพทองธาร เข้าร่วมประชุมที่พรรคเพื่อไทย เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน


โดยมีรายงานข่าวว่า คนในครอบชินวัตรไม่เห็นด้วยที่จะให้ นางสาวแพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่พร้อม อยากให้รออีก 5 ปี และไม่ใช่เรื่องง่ายกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน เพราะอายุแค่เพียง 37 ปีเท่านั้น


และยังมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่นที่เหมาะสมกว่า เช่น นายเศรษฐา ทวีสิน มีความเชี่ยวชาญในเรื่องทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศกระเตื้องขึ้นด้วย รวมถึง นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล


ทางครอบครัวชินวัตรอยากให้ทอดเวลาออกไปก่อน แต่ตัวของนายทักษิณเองอยากเดินทางกลับมาเลย ซึ่งทางครอบครัวยังไม่มั่นใจว่าจะถูกหลอกหรือไม่ และใจจริงก็อยากให้กลับมาหลังตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว หรือมีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อย


“อิ๊งค์ยังอายุน้อย ประสบการณ์ก็น้อย แต่การที่เข้ามาทำงานการเมืองก็เพื่ออยากทำให้พรรคเพื่อไทยเข้มแข็ง ส่วนทิศทางทางการเมืองของอิ๊งค์ ให้เป็นไปตามสเต็ป ขณะเดียวกันตัวอิ๊งค์ก็บอกพ่อว่า เที่ยวบินตัวเองยังไม่ได้ ซึ่งพ่อเขาก็เข้าใจ” แหล่งข่าวระบุ

-------------

วานนี้ 7 มิถุนายน 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566


ซึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมระเบียบกรมราชทัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน ให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2510 อธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้


ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566”


ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป


ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2565 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือหนังสือสั่งการอื่นใด ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน


ข้อ 4 ในระเบียบนี้ “สถานกักกัน” หมายความว่า สถานกักกัน หรือเขตกักกัน ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด สำหรับควบคุมผู้ถูกกักกัน


“ผู้ถูกกักกัน” หมายความว่า ผู้ซึ่งถูกศาลพิพากษาให้กักกัน “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งอธิบดีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติ วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2510


“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ข้อ 5 ให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รักษาการตามระเบียบนี้ มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้


สำหรับประกาศ มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ต้องถูกกันกัน อาทิ


ข้อ 36 ผู้ถูกกักกันมีสิทธิยื่นคำร้องทุกข์หรือเรื่องราวใด ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้อำนวยการสถานกักกัน อธิบดี รัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ต่อพระมหากษัตริย์ การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสถานที่ที่สถานกักกันจัดไว้เพื่อดำเนินการจัดส่งไปยังบุคคลหรือหน่วยงานที่ผู้ถูกกักกันประสงค์ก็ได้


ข้อ 37 ผู้ถูกกักกันจะยื่นคำร้องทุกข์ด้วยวาจา หรือโดยทำเป็นหนังสือก็ได้ ถ้ากระทำด้วยวาจา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งรับคำร้องทุกข์เป็นผู้บันทึกคำร้องทุกข์ ในบันทึกคำร้องทุกข์ หรือหนังสือร้องทุกข์นั้น ต้องลงลายมือชื่อผู้ร้องทุกข์และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรับคำร้องทุกข์ด้วย


ข้อ 38 การเขียนหนังสือร้องทุกข์หรือเรื่องราวใด ๆ หรือการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ผู้ถูกกักกัน ต้องเขียนด้วยตนเอง เว้นแต่ไม่สามารถเขียนด้วยตนเองได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาให้ความช่วยเหลือ ตามความประสงค์ของผู้ถูกกักกัน ในกรณีที่ผู้ถูกกักกันไม่สามารถจัดหาเครื่องเขียนส่วนตัวได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดหาให้


ข้อ 39 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำร้องทุกข์หรือเรื่องราวใด ๆ หรือฎีกาที่ทูลเกล้าฯ ถวายแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายตรวจดูข้อความและตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วทำความเห็นเสนอ ผอ.สถานกักกัน พร้อมกับแนวทางการแก้ไขหรือการให้ความช่วยเหลือ


ข้อ 40 คำสั่งหรือคำชี้แจงตอบคำร้องทุกข์หรือเรื่องราวใด ๆ หรือการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต้องแจ้งให้ผู้ถูกกักกันซึ่งยื่นคำร้องทุกข์ หรือเรื่องราวใด ๆ หรือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาทราบ และให้ผู้ถูกกักกันคนนั้นลงลายมือชื่อรับทราบไว้เป็นหลักฐาน

------------



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/kr2dny5gDHQ

คุณอาจสนใจ

Related News