เลือกตั้งและการเมือง

บาดแผลวิกฤตโควิด-19 ทำยอดเด็กกำพร้าเพิ่ม นักจิตวิทยาชี้ ต้องเร่งเยียวยา

โดย panisa_p

9 ส.ค. 2565

75 views

สถานการณ์โควิด-19 ที่เหมือนจะลดความรุนแรง ให้ผู้คนได้กลับมาใช้ชีวิตกันอย่างปกติอีกครั้ง แต่ด้านหนึ่ง โควิด- 19  ได้ทิ้งซากปะรักหักพังไว้กับสังคม  โดยเฉพาะบาดแผลที่เกิดขึ้นในครอบครัวคนไทย ทั้งเด็กที่กำพร้าพ่อแม่ อัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น การศึกษาหยุดชะงัก หรือแม้กระทั่งอัตราการเกิดของเด็กรุ่นใหม่ที่ลดลงไปด้วย  สิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนถึงสภาพที่เรียกได้ว่าเป็น “ลองโควิดทางสังคม”



ข้อมูลจากรายงานสุขภาพคนไทย 2565 พบว่าสถานการณ์โควิด-19 สร้างความเปลี่ยนภายในบ้านและครอบครัวอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาเด็กกำพร้าจากการที่พ่อแม่เสียชีวิตเพราะโควิด-19  โดยข้อมูลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. – 4 ก.ย. 2564  พบว่าในช่วงเวลา เพียงหนึ่งเดือนเศษ มีเด็กต้องกำพร้าพ่อแม่  มากถึง 396 คน


แบ่งเป็นกำพร้าเฉพาะพ่อ  ถึง 180 คน  และกำพร้าแม่ อีก 151 คน  ส่วนเด็กที่กำพร้าทั้งพ่อและแม่ มี 3 คน  ขณะที่เด็กที่กำพร้าผู้ปกครองที่นอกเหนือจากพ่อแม่แล้ว  มีอีก 35 คน โดยภาคใต้พบเด็กกำพร้ามากที่สุดถึง 131คน  ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 6-18ปี รองลงมาช่วงแรกเกิดถึง 3 ปี ขณะที่เด็กกำพร้าที่มีอายุน้อยที่สุดคือ อายุ 1 วัน


ปัญหาที่น่ากังวลหลังจากนี้คือ เด็กกำพร้าที่อยากจนต้องหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งข้อมูลในปี 2564 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ยังพบว่า ภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2564 มีนักเรียนยากจนเส่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 1.9 ล้านคน  นำไปสู่ปัญหาด้อยโอกาสและจะเผชิญความเสี่ยงในเรื่องต่างๆในอนาคต 


โดยเฉพาะปัญหาสภาพจิตใจ และสภาพความเป็นอยู่ของเด็ก ที่ควรมีมาตรการดูแล ช่วยเหลือเยียวยา ฟื้นฟู กลุ่มเปราะบางเหล่านี้ อย่างเต็มที่ เพราะการสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของครอบครัว แต่คนที่เหลืออยู่ต้องเผชิญกับความรู้สึกโดดเดี่ยว เศร้าหมอง ยิ่งหากเป็นครอบครัวด้อยโอกาสยิ่งเป็นการเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ให้ทวีขึ้น




แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เด็กๆ ที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ผู้ดูแลหลักเสียชีวิต หากไม่ได้รับการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจที่เหมาะสม จะกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว


จึงได้เตรียมมาตรการสร้างพื้นที่พักพิงทางจิตใจและสังคม (Psychosocial Care) ร่วมกัน ระยะสั้นคือการปฐมพยาบาลทางจิตใจ สำหรับเด็กที่มีความเข้มแข็งทางใจอยู่แล้วให้ฟื้นคืน โดยอาจไม่จำเป็นต้องพบนักจิตวิทยาเด็ก ระยะกลางคือเด็กที่มีปัญหาเดิมอยู่แล้ว เมื่อมาเจอกับความสูญเสีย กลุ่มนี้ต้องนำสู่กระบวนการรักษาเต็มรูปแบบทันที ส่วนในระยะยาวหมายถึงการฟื้นฟูทางสังคมและจิตใจร่วมกัน ด้วยการติดตามจากเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเด็กในการปรับตัวและเป็นที่ปรึกษาให้กับครอบครัวอุปถัมภ์


รายงานสุขภาพประจำปี2565 ยังระบุด้วยว่า จากการศึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2563 – 30 เมษายน 2564 พบว่ามีเด็ก 1,134,000 คน จากทั่วโลกที่สูญเสียผู้ดูแลหลักในครอบครัว อย่างน้อย 1 คน เพราะโควิด-19  และมีอีก 1,152,000 คน ที่สูญเสียผู้ดูแลรอง หรือญาติในครอบครัว อย่างน้อย 1 คน  จำเป็นที่หน่วยงานภาครีฐจะต้องบูรณาการช่วยเหลือฟื้นฟูและเยียวยาให้เร็วที่สุด เช่นการให้รัฐบาลออกมาตรการเรียนฟรีจนถึงระดับอุดมศึกษากับเด็กกลุ่มนี้  รวมถึงให้ครูในโรงเรียนมีความพร้อมในการดูแลเด็กที่สูญเสียพ่อแม่ หรือผู้ปกครองด้วย


คอลัมน์ : ใต้เตียงการเมือง

ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น

คุณอาจสนใจ