สังคม

สปสช. แจงเหตุจัดส่งยาฟาวิฯ ช้า เผยยอดผู้ป่วยโควิดใช้บริการระบบ 1330 พุ่ง

โดย paranee_s

29 ก.ค. 2565

54 views

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโฆษก สปสช. เปิดเผยว่า ตามที่ สปสช. ได้ดำเนินการจัดระบบสายด่วน สปสช.1330 เพื่อเป็นบริการเสริมที่สนับสนุนหน่วยบริการในการดูแลผู้ป่วยโควิด19 ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบบริการ ทั้งในกลุ่ม 608 และไม่ใช่ 608 ตามนโยบาย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข จากการเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา


ปรากฏว่ามีประชาชนที่ติดเชื้อโควิด19 โทรเข้าสู่ระบบเพื่อขอรับบริการจำนวนมาก มีผู้ป่วยโควิดส่วนหนึ่งจำเป็นต้องไปรับยาฟาวิพิราเวียร์ นอกจากการนำส่งยาโดย บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด (ปณท.ดบ.) ที่ได้รับการสนับสนุนค่าจัดส่งจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ภายใน 24 ชั่วโมงแล้ว สปสช. ได้จัดรถร่วมนำส่งเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาโดยเร็วที่สุด


อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับยาฟาวิพิราเวียร์มีเป็นจำนวนมากและกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งใน กทม.และปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม จนถึงเมื่อวานนี้ (28 ก.ค.) มีการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยโควิดแล้วจำนวน 2,233 ราย หรือเฉลี่ย 372 รายต่อวัน รวมเป็นยาฟาวิพิราเวียร์จำนวน 116,192 เม็ด


ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวนี้ แม้ว่าทั้ง สปสช. และ ปณท.ดบ โดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจัดส่งยาจาก ธกส. จะได้ดำเนินการเร่งส่งยาให้กับผู้ป่วยอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถจัดส่งยาให้ผู้ป่วยได้ทัน ทำให้ยังมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งได้รับยาล่าช้า ขอเรียนว่า สปสช.จะรีบจัดส่งยาเพิ่มเติมให้กับผู้ป่วยที่รอรับยาตามลำดับรายชื่อที่ได้ลงทะเบียนให้กับผู้ป่วยเร็วที่สุด


“สายด่วน สปสช. 1330 เพื่อร่วมให้บริการผู้ป่วยโควิด เป็นระบบบริการเฉพาะกิจที่ สปสช.ได้เข้ามาช่วยเสริมกำลังหน่วยบริการ เพื่อให้ผู้ป่วยโควิดที่ยังไม่ได้เข้าสู่การรักษา โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ได้รับยารักษาอย่างทันท่วงที ความพร้อมจึงอาจไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เจ้าหน้าที่สายด่วน สปสช. 1330 และเจ้าหน้าที่ สปสช. ทุกคน รวมถึงทาง ปณท.ดบ. เองที่ได้ร่วมมือ ทุกคนต่างเร่งส่งยาให้ผู้ป่วยอย่างเต็มกำลัง แต่ด้วยผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถจัดส่งรวดเร็วได้ทันทุกราย แต่เราจะพยายามเร่งให้ยาถึงมือผู้ป่วยเร็วที่สุด” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว


ทพ.อรรถพร กล่าวย้ำว่า สปสช.คำนึงถึงผู้ป่วยเป็นสำคัญ ด้วยสถานการณ์นี้จึงได้จัดบริการเฉพาะกิจนี้ขึ้น ทั้งนี้ต้องย้ำว่า ในกรณีผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ลงทะเบียนในระบบ 1330 และรอรับยา รวมถึงผู้ป่วยโควิดที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 608 หากมีอาการที่แย่ลง ขอให้รีบเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล หรือหน่วยบริการโดยเร็ว


ทั้งนี้ นอกจากบริการผ่านระบบสายด่วน สปสช. 1330 แล้ว ผู้ป่วยโควิดยังสามารถรับบริการในช่องทางหลัก 3 ช่องทาง ดังนี้

1. บริการที่คลินิก/โรงพยาบาล ตามสิทธิสุขภาพของตัวเอง

2. รับบริการแบบ Telemedicine ซึ่งทีมผู้ให้บริการ Telemedicine จะทำการคัดกรองเบื้องต้น หากไม่มีอาการ จะจ่ายยาแล้วติดตามอาการภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้ามีอาการ ผู้ให้บริการ Telehealth จะประสานส่งต่อคลินิก/โรงพยาบาลเพื่อดูแลตามแต่ละการจัดการของโรงพยาบาล

3. บริการที่ร้านยา ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว สิทธิบัตรทองและสิทธิประกันสังคม โดยรับยารักษาตามอาการ-คำแนะนำการใช้ยา (ครอบคลุมทั่วประเทศ)

คุณอาจสนใจ

Related News