เศรษฐกิจ

คนไทยรู้สึกได้ ค่าครองชีพสูงขึ้น หลังค่าอาหาร - น้ำมันพุ่ง ด้าน กนง.คงดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี

โดย thichaphat_d

11 พ.ย. 2564

117 views

สนค. เผย คนไทยรู้สึกค่าครองชีพสูงขึ้น หลังค่าอาหาร - น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ด้านธนาคารไทยแห่งปรับอัตราดอกเบี้ย 0.5 % ต่อปี


เมื่อวานนี้ (10 พ.ย. ) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ค่าครองชีพในขณะนี้ว่า การที่คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกว่าค่าครองชีพสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ไม่สูงมากนัก มาจากหลายสาเหตุ เช่น ค่าใช้จ่ายสินค้าและบริการกลุ่ม ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และประชาชนใช้จ่ายเป็นประจำสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ทั้งอาหารสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง รวมถึงน้ำมัน และค่าโดยสารสาธารณะ การสูงขึ้นของราคากลุ่มนี้แม้ไม่มากนัก


และมีสินค้าอื่นๆ ที่ราคาลดลง เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผลไม้สด ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ฯลฯ แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องเผชิญทุกวัน จึงอาจทำให้รู้สึกว่าราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น


ทั้งนี้ จากการที่ สนค.ติดตามพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยพบว่า ปัจจุบันแต่ละเดือนคนไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยกว่า 17,000 บาท โดยเดือน ต.ค. มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 17,143 บาท โดยสัดส่วน 40.38% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือ 6,922 บาท เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงอาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน เนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์จากนม ฯลฯ รองลงมา 23.47% หรือ 4,023 บาท เป็นค่าพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร จำพวกค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าอินเตอร์เน็ต อีก 22.62% เป็นค่าเช่าบ้าน


เมื่อราคาอาหาร น้ำมัน ค่าโดยสารสาธารณะ ที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ และเป็นสิ่งที่ต้องใช้จ่ายทุกวัน ปรับเพิ่มขึ้น คนไทยจึงรู้สึกว่าค่าครองชีพสูงขึ้น


นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากประชาชนมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น เช่น โทรศัพท์มือถือ แพ็กเกจอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายทั้งๆที่ราคาสินค้าและบริการต่อหน่วยไม่ได้เพิ่มขึ้น รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ทำให้มีรายรับไม่พอกับรายจ่าย และกำลังซื้อลดลง คาดว่าเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมัน แต่ราคาอาหารสดน่าจะลดลง


นายรณรงค์กล่าวต่อถึงกรณีที่ราคาสุกรเพิ่มขึ้นว่า แม้ราคาสุกรมีชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ราคาขายปลีกเนื้อสุกรลดลงต่อเนื่องระหว่างเดือน ส.ค.-ต.ค. เพราะผลผลิตเข้าสู่ตลาดต่อเนื่อง และเพียงพอ


นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศผลประชุุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน เมื่อ 10 พ.ย. 64 ครั้งที่ 7/2564 โดยมีมติ 7:0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5 % ต่อปี พร้อมมองว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด รวมถึงการเปิดประเทศ


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/pnCoJvYQuqw


คุณอาจสนใจ