ต่างประเทศ

ครบรอบ 2 ปี รัฐประหารเมียนมา ยูเอ็นชี้รัฐบาลยังคงก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

โดย kanyapak_w

1 ก.พ. 2566

118 views

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เกิดการรัฐประหารในประเทศเมียนมา โดยกองทัพของเมียนมาได้ออกมายึดอำนาจและโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางอองซานซูจี โดยอ้างว่าพบความผิดปกติในการเลือกตั้งทั่วไป ส่งผลประเทศตกอยู่ในวิกฤตและความโกลาหลอย่างหนัก



เอเคิลด์ (Acled) หน่วยงานเฝ้าสังเกตความขัดแย้งของโลกจากสหรัฐฯ ระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตราว 1.9 หมื่นคนในเมียนมา หลังจากที่รัฐบาลดำเนินการปราบปรามผู้เห็นต่างกับกองทัพ



ขณะที่องค์การสหประชาชาติ ที่กล่าวหารัฐบาลทหารเมียนมาว่าก่ออาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร มีชาวเมียนมาพลัดถิ่นแล้วราว 1.2 ล้านคน และอพยพออกนอกประเทศอีกประเทศอีก 70,000 คน



เมื่อวานนี้ (31 ม.ค. 66) ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติออกมาแถลงยอมรับว่า ความล้มเหลวในการแก้ไขวิกฤตการณ์นี้ในฐานะของประชาคมโลกได้ผ่านมาแล้ว 2 ปี



นายทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ระบุว่า พวกเขามีหน้าที่ที่สำคัญมากในฐานะของประชาคมโลกที่จะต้องทำความเข้าใจถึงบทบาทในการยอมรับว่า อันไหนคือความชอบธรรม หรือ ไม่ชอบธรรมของรัฐบาลทหาร และว่ามีอยู่ 3 สิ่งที่ รัฐบาลทหารต้องการจะรักษาเอาไว้ ได้แก่ เงิน, อาวุธ, และความชอบธรรม แต่ตอนนี้ รัฐบาลทหารของเมียนมาไม่มีความชอบธรรมในสายตาของประชาชนแล้ว



และเนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปี สหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตรได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมกับรัฐบาลทหารเมียนมา



โดยรัฐบาลวอชิงตัน ประกาศขึ้นบัญชีดำกับคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (UEC) และเจ้าหน้าที่อีกหลายคนของบริษัทน้ำมันและก๊าซเมียนมา (MOGE) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล รวมถึง บริษัทด้านเหมืองแร่อีกหลายแห่ง



เช่นเดียวกันกับแคนาดา, ออสเตรเลีย, และสหราชอาณาจักร ที่ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมกับรัฐบาลทหารเมียนมา



โดยแคนาดาพุ่งเป้าหมายไปที่บุคคล 6 คน และห้ามเมียนมาส่งออก, ซื้อขาย, จัดหาหรือขนส่งเชื้อเพลิงด้านการบินกับตน ส่วนออสเตรเลียพุ่งเป้าไปที่สมาชิกของรัฐบาลทหาร และบริษัทของทหาร



การประกาศคว่ำบาตรของชาติตะวันตกเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมาออกมาประกาศกฎระเบียบสำหรับการเลือกตั้งทั่วไป ที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ โดยเฉพาะข้อกำหนดที่ระบุว่า พรรคการเมืองที่ต้องการลงเลือกตั้ง จะต้องมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 100,000 คน จากเดิม 90,000 คน และต้องส่งผู้สมัครภายในเวลา 60 วัน มิเช่นนั้น อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตพรรคการเมือง



หลายฝ่ายมองว่าการปรับกฎระเบียบการเลือกตั้ง ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ ให้กับพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งเป็นพันธมิตรกับฝ่ายทหาร และเคยพ่ายแพ้ให้กับพรรคสันติบาตแห่งชาติและประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซานซูจีมาแล้ว ในการเลือกตั้ง เมื่อปี 2558 และ 2563




คุณอาจสนใจ

Related News