ต่างประเทศ

'เปรู-กรีซ' ประท้วงน้ำมัน-ค่าครองชีพพุ่ง ด้านผู้นำศรีลังกาลั่นไม่ลาออก

โดย nattachat_c

7 เม.ย. 2565

48 views

รัฐบาลเปรู ต้องยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิว หลังสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ประท้วง ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาปากท้องและราคาน้ำมันที่แพงหูฉี่ ส่วนที่กรีซ คนออกมาประท้วงนับหมื่น หลังราคาน้ำมัน-ค่าครองชีพพุ่ง ด้านผู้นำศรีลังกาลั่นไม่ลาออก


เมื่อวานนี้ ประธานาธิบดี เปโดร แคสเทลิโอ แห่งเปรู ต้องยอมยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิว หลังมาตรการดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวเปรู ที่ได้ออกมารวมตัวประท้วงราคาน้ำมันแพงทั่วประเทศ รวมถึงที่กรุงลิมา เมืองหลวงของประเทศ


โดย ผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ย และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น จนกระทบค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ และราคาอาหาร ผู้ประท้วงได้ออกมาจุดไฟเผายางรถยนต์ และร่วมกันปิดถนน รวมถึงมีรายงานเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่อย่างรุนแรง


ล่าสุด รัฐบาลเปรูต้องยอมปรับลดราคาภาษีน้ำมัน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกแล้ว แต่ราคาพลังงานในประเทศก็ยังคงปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง จนกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน  


ทั้งนี้ การประท้วงดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากที่เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ประท้วงในเมืองแอนดีส ส่งผลให้มีผู้ประท้วงเสียชีวิต 4 ศพ.

------

ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ มีประชาชนหลายพันคน ออกมาเดินชบวนประท้วง หลังจากที่ราคาน้ำมันแพงขึ้น และทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ขณะที่รายได้ยังคงที่


โดยชาวกรีซผู้เข้าร่วมประท้วงรายหนึ่งถึงกับอบอกว่า "ชีวิตของเรามีแต่หนี้ ผมติดค่าไฟ และค่าห้องมา 2 เดือนแล้ว โดยที่ไม่มีเงินจ่าย"


ขณะที่ผู้ประท้วงอีกคน ก็บอกว่า "จำเป็นต้องหยุดจ่ายหนี้ทั้งหมด เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่มีเงินเหลือแล้ว"


การประท้วงครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมอย่างน้อยราว 10,000 คน โดยผู้ประท้วงบอกว่า "พวกเขาไม่สามารถ ยอมรับกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นได้อีกต่อไปแล้ว"

-----

ที่ศรีลังกา ประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา ซึ่งปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2562 นั้น ประกาศลั่นจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง แม้ว่าประชาชนจะออกมาประท้วงไม่พอใจการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจ ตั้งแต่เดือนก่อน และปะทุรุนแรงในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา


โดย จอห์นต้น เฟอร์นันโด รัฐมนตรีกระทรวงทางหลวงแถลงต่อรัฐสภาว่า “ในฐานะรัฐบาล เรากำลังพูดอย่างชัดเจนว่า ประธานาธิบดีจะไม่ลาออกภายใต้สถานการณ์ใดๆ เราจะเผชิญหน้ากับเรื่องนี้”


ทั้งนี้ ศรีลังกากำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุด ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องใช้จ่ายค่าเชื้อเพลิงนำเข้า ส่งผลให้มีการตัดไฟบ่อยครั้ง นานอย่างน้อยครึ่งวันหรือมากกว่า นอกจากนั้น ยังมีปัญหาขาดแคลนอาหาร ยา และเชื้อเพลิง ต่อเนื่อง ทำให้ความไม่พอใจของสังคมพุ่งถึงขีดสุด

คุณอาจสนใจ