ต่างประเทศ

สหรัฐฯ ประกาศว่ากองทัพเมียนมา “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา” หนุน UN สอบข้อเท็จจริง

โดย pattraporn_a

22 มี.ค. 2565

66 views

สหรัฐอเมริกา ประกาศว่าการใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมาในการปราบปรามชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ เป็น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาติ และสนับสนุนองค์การสหประชาชาติในหาข้อเท็จจริงการก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศที่ร้ายแรงที่สุดในเมียนมา รวมถึงอาชญกรรมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์และผู้เรียกร้องประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์รัฐประหาร


นายแอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้กล่าวแถลงเรื่องนี้ที่อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ในรัฐวอชิงตัน เมื่อวานนี้ โดยบอกว่าจากหลักฐานที่ได้รับมาชี้ให้เห็นว่ากองทัพเมียนมามีเจตนาที่จะใช้กำลังในการทำปราบปรามชาวโรฮิงญา ซึ่งมีเหยื่อหลายคนถูกยิงเข้าที่ศีรษะ, ถูกข่มขืน, และถูกทรมาณ ในช่วงปี 2559-2560 ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาเกือบ 1 ล้านคนต้องลี้ภัย ไปยังประเทศบังคลาเทศ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่พลเอกมินอ่องลาย เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นคนเดียวกับผู้นำรัฐประหารในปี 2564


และมีหลักฐานที่เชื่อมโยงให้เห็นถึงเจตนาที่มีมากกว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปจนถึงการทำลายล้างชาวโรฮิงญา ที่มีการวางแผนมาหลายทศวรษ ผ่านกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ชาวโรฮิงญา กีดกันชาวโรฮิงญาออกจากพลเมือง ในขณะที่กองทัพพม่ายังมีการสังหาร ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนาอื่นๆมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลสหรัฐจึงจะทำงานอย่างต่อเนื่องกับองค์การสหประชาชาติที่จะสืบสวนหาหลักฐานการก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศที่ร้ายแรงที่สุดในเมียนมา


ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นราว 1 เดือน หลังจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) ในกรุงเฮก ของเนเธอร์แลนด์ เริ่มพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงยา ตามสำนวนฟ้องรัฐบาลเมียนมา เมื่อปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ภายหลังทางการประเทศแกมเบีย ในฐานะสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ยื่นเรื่องดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2562 จากการที่กองทัพเมียนมาใช้ความรุนแรงในการปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ จนทำให้ชาวโรฮิงยากว่า 850,000 คนต้องอพยพหนีตายไปบังกลาเทศ


ขณะที่ ทางด้านนายสเตฟาน ดูจาร์ริก (Stephan Dujarric) โฆษกขององค์การสหประชาชาติ ก็ออกมาแถลงว่าการที่จะตัดสินใจว่าการกระทำของกองทัพเมียนมาเป็นการฆ่าเผ่าพันธุ์หรือไม่เป็นอำนาจของคณะตุลาการ แต่ทาง UN ก็ยังคงแสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าของกองทัพเมียนมา


ด้านชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยไปยังบังกลาเทศก็ออกมาแสดงความยินดีต่อคำประกาศของรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่ทางด้านนักวิเคราะห์มองว่าแม้คำประกาศดังกล่าวของสหรัฐฯ จะเป็น “ขั้นตอนในเชิงบวก” แต่ก็ควรมีการตัดสินในสิ่งที่ตามมา


เช่นเดียวกันกับ ฮิวแมนไรตส์วอตช์ (HRW) ก็ออกมาตอบรับด้วยความยินดีกับคำประกาศดังกล่าวของสหรัฐฯ โดยนายฟีล โรเบิร์ตสัน (Phil Robertson) รองผู้อำนวยการของ HRW ประจำภูมิภาคเอเชียกล่าวว่า มันเป็นการดำเนินการที่ยาวนานมาก แต่พวกเขาก็ยินดีที่มันเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม เขาเรียกร้องให้ให้มีการดำเนินการเพิ่มเติม ซึ่งเขาเชื่อว่าคำประกาศดังกล่าวจะทำให้เกิดการสนับสนุนมากขึ้นจากนานาชาติ เพื่อให้มีการดำเนินการทางกฎหมายต่อกองทัพเมียนมาที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ)

คุณอาจสนใจ

Related News