“บิ๊กตู่” พ้นไม่พ้น? ดร.ปริญญาชี้ รธน.ซ่อนเงื่อน นายกฯรักษาการได้ แม้ศาลสั่งพ้นตำแหน่ง

ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้อง และให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี สิ่งที่ต้องตามต่อหลังจากนี้คือแนวทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีต่อ อนาคตของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาว่าจะเป็นอย่างไร


ซึ่งถ้าดูตามคำร้องของฝ่ายค้านที่ประธานสภาฯ ส่งไป ศาลจะพิจารณาว่า พลเอกประยุทธ์ ต้องพ้นหรือไม่พ้นจากตำแหน่ง ทำให้มีการตั้งคำถามว่าหากพ้นจากตำแหน่ง หรือไม่พ้นจากตำแหน่ง จะมีกระบวนการและเงื่อนไขอย่างไร


ถ้าศาลสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง

เรื่องนี้มีความเห็น จากนักวิชาการด้านกฎหมายอย่าง ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้พลเอกประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่ง กระบวนการจะกลับไปที่รัฐสภา เพื่อโหวตหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยที่พลเอกประยุทธ์จะต้องพ้นจากตำแหน่ง ทันที ไม่สามารถรักษาการ ต่อไปได้ เช่นเดียวกับ กรณี ตาย หรือลาออก




แต่ตามรัฐธรรมนูญพบว่า เงื่อนไขการครบวาระ8ปี ของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ผูกโยงอยู่ในมาตรา 170 เกี่ยวกับ การสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ของรัฐมนตรีด้วย แต่ การพ้นจากตำแหน่ง มาตรา 170 ดังกล่าว มีเงื่อนไข ตามมาตรา168(1) เขียนไว้ค่อนข้างประหลาด ว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 170 นั้น สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ทำให้เหมือนกับว่า ถ้าศาลสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง พลเอกประยุทธ์ ยังสามารถเป็นนายกฯรักษาการต่อได้




อ.ปริญญา ชี้ว่า เรื่องนี้จึงเป็นเหตุผล ว่าทำไม อ.วิษณุ เครืองาม มีความเห็นว่าพลเอกประยุทธ์ สามารถรักษาการต่อไปได้ และเชื่อว่าประเด็นนี้จะเป็นที่ถกเถียง เพราะตามคำร้องของก็ไม่ได้ระบุให้ศาลตีความถึงกรณีรักษาการด้วย แต่ถ้าศาลมีคำสั่งเรื่องนี้มาชัดเจนก็จะจบปัญหา


ส่วนกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ อ.ปริญญา กล่าวว่าก็ขึ้นอยู่กับรัฐสภาที่จะต้องพิจารณาโดยเร็ว แต่ก็มีโอกาสที่ฝ่ายรัฐบาลจะใช้เสียงข้างมากยื้อเวลา เพื่อไม่ให้สภาเปิดเลือก นายกฯคนใหม่ได้ ซึ่งถ้าเกิดกรณีนี้ยื้อแบบนี้จะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก


ถ้าศาลชี้ว่าไม่พ้นจากตำแหน่ง

อ.ปริญญายังให้ความเห็น ถึงประเด็นถ้าศาลวินิจฉัยให้พลเอกประยุทธ์ไม่พ้นจากตำแหน่ง เรื่องนี้ก็ควรมีคำอธิบาย ว่าเหตุใดถึงยกเว้น ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้ยกเว้นไว้ เช่นถ้าไม่พ้นเพราะนับวาระจากปี2560 ที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ก็ต้องอธิบายว่า ทำไมถึงไม่นับการเป็นนายกฯก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ถ้าบอกว่ารัฐธรรมนูญไม่เขียนไว้ชัดเจนว่าให้นับรวม เวลาก่อนหน้านั้น


ดังนั้นจำเป็นต้องตีความเพื่อควบคุมการใช้อำนาจ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน เพราะถ้าจะบอกว่ารัฐธรรมนูญไม่มีผลย้อนหลัง แต่ที่ผ่านมา คดีของนายสิระ เจนจาคะ ที่พ้นจาก ส.ส. เพราะขาดคุณสมบัติจากคดีในอดีตเมื่อปี2538 ทั้งที่ รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่ได้เขียนเอาไว้ให้ใช้ผู้สมัคร ที่ต้องคดีมาก่อน ที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่เหตุใดจึงใช้



คอลัมน์ “ใต้เตียงการเมือง”

ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น

โดย panisa_p

24 ส.ค. 2565

1.1K views