รายงานสุขภาพคนไทยปี 65 พบ โควิด-19 ทำพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพคนไทยลดลง

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (วปส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยรายงานสุขภาพคนไทย ประจำปี 2565 ถึงพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  โดยพบว่า โควิด-19 มีแนวโน้มทำให้ คนไทย มีพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ และพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพลดลง  

โดยเฉพาะพฤติกรรมด้านอาหารกลุ่มผู้มีรายได้น้อย จากการสำรวจผู้มีรายได้น้อยในชุมชนแออัดในกรุงเทพฯสำรวจ พฤษภาคมมิถุนายน 2563 จากกลุ่มตััวอย่าง 900 คนจาก 9 ชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร  พบว่าร้อยละ 37.8 ต้องลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารและต้องลดการบริโภคอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น อาหารประเภทสัตว์น้ำ (ร้อยละ 64.1) เนื้อสัตว์ (ร้อยละ 52.2) และผลไม้ (ร้อยละ 46.7)



ขณะที่การสำรวจการรับรู้ถึงความเสี่ยงและพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่่มแอลกอฮอล์ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด‑19 กรณีศึกษาประชาชนอายุ 15 ปีขึ้้นไป ใน 15 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ  พบว่าการบริโภคแอลกอฮอล์มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา โดยผลการสำรวจพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 6 รอบ ตั้งแต่การระบาดพบว่า ผู้ที่ดื่มในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาอย่างน้อยร้อยละ 80 รายงานว่า ในช่วง 30 วันที่ผ่านมาไม่ดื่มเลยหรือดื่มน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนระบาดของโควิด-19 (ยกเว้นรอบการสำรวจเดือนเมษายน 2564 มีประมาณร้อยละ 70 รายงานว่าไม่ดื่มหรือดื่มน้อยลง) โดยรูปแบบการดื่มในช่วงการระบาดของโควิด-19พบว่าผู้ดื่มส่วนใหญ่ที่ร้อยละ 83.2 ดื่มในบ้านตนเองมากที่สุด



ขณะที่การสำรวจล่าสุดในปี 2564 การสูบบุหรี่ในคนไทยอายุ15 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มลดลง เป็นร้อยละ 17.4 จากร้อยละ 19.1 ในปี 2560  ซึ่งโควิด-19 อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง โดยข้อมูลจากสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 พบว่ามีผู้โทรศัพท์มาขอคำปรึกษาจำนวนมากขึ้นโดยมีการให้เหตุผลที่ต้องการเลิกเพราะกลัวติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้การงดการสังสรรค์ และการเรียนออนไลน์ในกลุ่มเยาวชน อาจช่วยลดอิทธิพลการสูบบุหรี่จากสังคมและเพื่อนลงท้ายที่สุด พฤติกรรมการพนันของประเทศไทยไม่ได้มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงมากนักจากการระบาดของโควิด-19 สัดส่วนผู้ซื้อสลากกินแบ่งและหวยใต้ดินยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง



อย่างไรก็ตามจากรายงาน ยังพบว่า นอกจากมิติของความเจ็บป่วย ความสูญเสียและผลกระทบในมิติต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างต่อสังคมแล้ว อีกมิติหนึ่ง  โควิด-19 ทำให้คนไทยปรับตัวตามมาตรการป้องกันโรคพร้อมกับการดำเนินชีวิตวิถีใหม่  ส่งผลเป็นปัจจัยเชิงบวกที่ดีต่อสุขภาพและทำให้แนวโน้มการเจ็บป่วยทั่วไปของคนไทยในปี 2564 ยังคงลดลงต่อเนื่อง  โดยเฉพาะการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อ ที่ผ่านระบบทางเดินหายใจ และที่สามารถป้องกันด้วยการรักษาความสะอาดและสุขอนามัย เช่น อุจจาระร่วง ไข้หวัดใหญ่ปอดอักเสบ และ มือเท้าปาก พบว่ามีจำนวนลดลงชัดเจนในปี 2563-2564  แต่ที่น่ากังวลคือตัวเลขการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ขยับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปี 2564ซึ่งไม่แน่ชัดว่าเป็นผลจากการปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน ในพื้นที่ต่าง ๆ ช่วงโควิด-19 หรือไม่แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันให้มากขึ้น


( คอลัมน์: ใต้เตียงการเมือง )

โดย JitrarutP

29 ก.ค. 2565

146 views

EP อื่นๆ