1 เดือนผ่านไป เห็นอะไรหลัง #ไฟไหม้สำเพ็ง ?

ย้อนไปเมื่อช่วงเกือบเที่ยงของวันที่ 26 มิถุนายน 2565 พื้นที่ตลาดสำเพ็ง บริเวณถนนราชวงศ์ ในขณะที่การค้าขายและวิถีชีวิตยังคงดำเนินไปตามปกติ แต่ทุกสิ่งก็เปลี่ยนไป เมื่อเกิดประกายไฟระเบิดจากหม้อแปลงไฟฟ้า ลุกลามผ่านสายไฟและสายสื่อสารตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน บวกกับความร้อนและวัสดุในอาคารที่ติดไฟได้อย่างดี ส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรมอัคคีภัยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของย่านสำเพ็ง คร่าชีวิตของแรงงานไปถึง 2 ราย อาคารเสียหายไปถึง 5 คูหา มูลค่าความเสียหายทะลุหลักสิบกว่าล้าน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ นอกจะกระทบกระเทือนถึงชีวิตของบรรดาผู้ประสบภัยทั้งหลายแล้ว ยังนำมาสู่การตั้งคำถามของผู้คนในสังคมว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ปัญหาสายไฟสายสื่อสารไร้ระเบียบเหล่านี้ ควรจะต้องได้รับการแก้ไขจัดการเสียที




สภาพที่เกิดเหตุที่ผ่านพ้นไป 1 เดือน แม้ยังคงมีเศษซากปรักหักพังที่เสียหาย แต่วิถีชีวิตของชาวสำเพ็งก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป

1 เดือนที่เปลี่ยนไป แต่รอการเปลี่ยนแปลง

ครบรอบ 1 เดือนผ่านไปหลังเหตุการณ์  #ไฟไหม้สำเพ็ง ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจที่เกิดเหตุอีกครั้งหนึ่ง พบว่า วิถีชีวิตของผู้คน บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ในระแวกใกล้เคียงยังคงเป็นไปตามปกติ อาคารทั้ง 5 คูหายังคงปิดตายจากคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่ของสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ทางเดินเท้าด้านหน้าอาคารถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าไป เศษซากข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกเพลิงไหม้ยังคงสภาพเดิมตั้งแต่เกิดเหตุ เนื่องจากเป็นวัตถุพยานสำคัญสำหรับการพิสูจน์หลักฐานเพื่อสรุปหาสาเหตุอย่างเป็นทางการ ทั้งรถจักรยานยนต์ รถเข็นที่ใช้ทำมาหากิน ซากต้นไม้ตาย ซากสายไฟสายสื่อสาร เศษสินค้าพลาสติก เศษเหล็กที่เคยเป็นป้ายของร้านห้อยพังลงมาอย่างน่าหวาดเสียว


สภาพของอาคารที่เสียหายและไหม้จนผนังปูนกระเทาะจนเห็นอิฐภายใน เสาเดิมของหม้อแปลงยังคงตั้งตระหง่านในขณะที่หม้อแปลงเดิมถูกย้ายออกไปแล้ว กองสายเคเบิลไม่ทราบประเภทถูกวางไว้ในพื้นที่ ให้ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาได้ระลึกถึงว่า ณ ที่นี่แห่งนี้เคยเกิดโศกนาฏกรรมมาก่อน อีกทั้งยังคงได้กลิ่นสารพลาสติกไหม้จากภายในอาคาร แม้จะเหตุการณ์จะผ่านมากว่า 1 เดือนแล้วก็ตาม



ข้าวของเครื่องใช้และเศษวัสดุต่าง ๆ ที่เสียหายจากเพลิงไหม้ ยังคงกระจัดกระจายโดยที่มีแนวรั้วกั้น


เศษซากรถเข็นที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องมือทำมาหากิน กับกองสายไม่ทราบประเภทวางอยู่


แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวสังเกตเห็นและยังคงเป็นสิ่งที่สะดุดตา นอกจากสายสื่อสารที่มาติดตั้งใหม่แทนที่สายเดิมที่เสียหายไป ก็คือบรรดาสายไฟและสายสื่อสารที่ยังคงไร้ระเบียบ กระจายรกรุงรังระโยงระยางทั่วทั้งถนนราชวงศ์โซนสำเพ็ง พร้อมทั้งบรรดาหม้อแปลงไฟฟ้าทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง ติดตั้งอยู่ตลอดสองฟากถนน เท่าที่สำรวจตลอดทั้งเส้นพบหม้อแปลงประมาณ 7 ลูก ทุกลูกอยู่ในสภาพปกติ อยู่เหนือหัวบรรดาแผงร้านค้าร้านขายต่าง ๆ จนกลายเป็นภาพที่ชินตาและพบเห็นได้ทั่วไป ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือวิถีชีวิตที่ดำเนินมาอย่างยาวนานเป็นปกติของชาวสำเพ็ง เพียงแต่หลังจาก #ไฟไหม้สำเพ็ง ในครั้งนั้น แม้ไม่มีทางเลือกเนื่องจากต้องทำมาหากิน แต่พวกเขาก็กังวลใจไม่น้อยว่า โอกาสที่จะเกิดเหตุซ้ำรอยจากสายเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ



ปากทางเข้าตรอกสำเพ็ง บรรดาร้านค้ามากมายและผู้คนเดินขวักไขว่ อยู่ภายใต้หม้อแปลงขนาดใหญ่และสายที่รกรุงรังไร้ระเบียบ ห่างจากที่เกิดเหตุไม่ถึงร้อยเมตร

วิถีชีวิตบนความวิตกกังวล

ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับผู้ประกอบการร้านขายมุ้งที่ตั้งอยู่ถัดไปจากคูหาที่เกิดเหตุ (ซึ่งสงวนชื่อร้านและตัวแหล่งข่าว) เขาเล่าว่า แม้เหตุการณ์ครั้งนี้จะสร้างความเสียหายกับร้านเพียงแค่คราบเขม่ากับร่องรอยของสายไฟที่เสียหาย ซึ่งร้านก็ยังสามารถกลับมาเปิดให้บริการตามปกติภายหลังจากการตรวจสอบความปลอดภัยโดยเจ้าหน้าที่แล้ว แต่ก็ยังคงกังวลใจต่อบรรดาสายไฟ สายสื่อสาร และหม้อแปลงที่อยู่ใกล้เคียง เพราะอาจจะเกิดระเบิดและลุกไหม้ขึ้นมาได้ซ้ำรอยอีกครั้ง โดยเฉพาะอากาศร้อนจัดที่อาจจะเป็นตัวเร่งให้เกิดอัคคีภัยได้ ซึ่งหลังเหตุการณ์ผ่านไปได้ไม่กี่วัน ก็มีหม้อแปลงระเบิดและสายไฟไหม้อยู่ไม่ไกลจากจุดนี้มากเท่าไหร่  อีกทั้งวัสดุภายในร้านรวมถึงร้านอื่น ๆ ใกล้เคียงก็เป็นวัสดุติดไฟได้ง่าย จึงเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอยได้


ตลอดทั้งถนนราชวงศ์โซนสำเพ็ง ภาพเสาหม้อแปลงไฟฟ้ากับสายรกรุงรังอยู่เหนือร้านค้าและประชาชนทั่วไป นี่คือภาพที่ชินตาและน่าหวาดกลัวในเวลาเดียวกัน


เช่นเดียวกับแม่ค้าขายน้ำที่อยู่ไม่ถัดจากที่เกิดเหตุมากนัก ได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ตนก็รู้สึกกลัวว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากต้องค้าขายทำมาหากินที่นี่ จะให้หาที่อื่นค้าขายก็ลำบาก แค่พื้นที่สำเพ็งก็มีทั้งหม้อแปลงขนาดใหญ่และเก่าอยู่โดยรอบ หากเกิดเหตุซ้ำรอยโดยเฉพาะบางจุดที่เสี่ยงอาจจะลามเข้าไปในตรอกซอยแคบ ๆ ก็อาจจะส่งผลให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากกว่านี้ จึงอยากจะเร่งรัดให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดการโดยเร็วที่สุด



สภาพอาคารที่เดิมเคยเป็นร้านค้าพาณิชย์ที่สร้างมูลค่าได้มหาศาล วันนี้กลายเป็นเศษเหล็กที่เสียหายนับสิบล้าน และความทรงจำ

การเยียวยาหลังโศกนาฏกรรม

ผู้สื่อข่าวพูดคุยกับตัวแทนผู้เสียหายรายหนึ่งโดยเล่าให้ฟังว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาค่อนข้างผ่านไปอย่างลำบาก ทั้งเรื่องของการยื่นขอความช่วยเหลือจากทางรัฐที่ต้องใช้เวลาดำเนินการทางเอกสาร โดยเฉพาะเอกสารจากแรงงานต่างด้าวที่มีปัญหายุ่งยากพอสมควร และความยากลำบากในประกอบกิจการ แม้ผู้เสียหายบางเจ้ายังมีร้านสาขาที่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่บางเจ้าก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากที่ต้องไปหาเช่าสถานที่อื่นเพื่อค้าขายต่อไป ซึ่งอาจจะต้องแบกรับค่าเช่าที่สูงกว่าที่เดิม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแรงงาน ทุกร้านค้ายังคงจ้างแรงงานกลุ่มนี้ต่อไป ซึ่งก็โยกย้ายให้ไปประจำสาขาอื่น ๆ ของร้าน หรือย้ายตามร้านที่ไปเปิดใหม่ในสถานที่อื่น แต่ถึงกระนั้น ผลกระทบที่ได้รับพอสมควรคือเรื่องต้นทุนการดำเนินกิจการที่สูงขึ้น และสินค้าบางส่วนที่หายไปกับเปลวเพลิง ซึ่งประเมินมูลค่าความเสียหายบางรายสูงถึงสิบล้านบาท ยังไม่รวมค่าเสียโอกาสอื่น ๆ ที่ไม่สามารถประเมินได้


เสาไฟที่เคยติดตั้งหม้อแปลงที่เป็นต้นเหตุ #ไฟไหม้สำเพ็ง ในวันนี้การไฟฟ้าฯ ได้รื้อถอนออกไปแล้ว หลงเหลือแค่ภาพจำ กับสายสื่อสารที่ติดตั้งใหม่

สำหรับเรื่องของการช่วยเหลือเยียวยาจากทางภาครัฐ ผู้เสียหายระบุว่า ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง และกระทรวงแรงงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการยื่นเอกสารส่งแก่หน่วยงานเหล่านี้ โดยเฉพาะการไฟฟ้าฯ ที่ทางผู้เสียหายกล่าวว่า จะลงพื้นที่นัดหมายให้บรรดาผู้เสียหายมาพูดคุยและส่งคำร้องขอความช่วยเหลือเยียวยาในวันพุธที่ 27 กรกฎาคมนี้ ในขณะที่ตอนนี้ได้รับการจ่ายเงินจากทางกรุงเทพมหานครแล้ว แม้จะเป็นจำนวนที่ไม่มาก แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ภาครัฐได้ให้ความสำคัญและดูแลช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ประสบภัยเป็นอย่างดี แม้จะต้องใช้ระยะเวลาและการเดินเรื่องเอกสารทางราชการพอสมควร


ผู้สื่อข่าวได้สอบถามการให้ความช่วยเหลือเยียวยาจากทางฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ และฝ่ายสงเคราะห์ผู้ประสบภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร โดยได้ข้อมูลว่า หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป 1 เดือน ขณะนี้มีผู้ประสบภัยได้ติดต่อขอออกหนังสือรับรองผู้ประสบภัยและขอรับการเยียวยาแล้วจำนวน 12 ราย แบ่งเป็นเจ้าบ้าน (เจ้าของอาคาร) 3 ราย ผู้เช่า 2 ราย ผู้ค้า 5 ราย และทายาทผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยได้อนุมัติการจ่ายเงินเยียวยาตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2564 ดังต่อไปนี้

1. เงินทุนประกอบอาชีพ รายละไม่เกิน 11,400 บาท ซึ่งเงินนี้ได้จ่ายให้แก่ผู้เสียหาย 10 ราย โดยพิจารณาจากมูลค่าความเสียหายของแต่ละรายที่ไม่เท่ากัน


2. เงินค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต ซึ่งได้อนุมัติจ่ายให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต 2 รายเต็มจำนวนที่รายละ 29,700 บาท


ซึ่งเงินเหล่านี้ ทางกรุงเทพมหานครได้จ่ายให้แก่บรรดาผู้เสียหายทั้ง 12 รายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังมีเงินเยียวยาจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กับมูลนิธิสังคมสงเคราะห์อื่น ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายด้วย เช่น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง เป็นต้น


จำนวนเงินเยียวยาที่กรุงเทพมหานครอนุมัติจ่ายแก่ผู้ประสบภัย


ด้านของการไฟฟ้านครหลวง แม้เหตุการณ์ครั้งนี้ยังคงต้องรอการสรุปสาเหตุจากพิสูจน์หลักฐานต่อไปว่าเกิดจากหม้อแปลงระเบิดหรือไม่ แต่การไฟฟ้านครหลวงก็ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือเยียวยาอย่างเต็มที่แก่ผู้ได้รับผลกระทบ โดยได้ลงพื้นที่ตั้งโต๊ะรับเอกสารคำร้องขอเยียวยาความเสียหายในวันที่ 27 กรกฎาคมตามที่ได้แจ้งนัดหมายแก่ผู้เสียหาย ซึ่งจำนวนเงินชดเชยเยียวยาต้องรอสรุปและพิจารณาตามคำร้องอีกครั้ง พร้อมทั้งดำเนินการตรวจสอบสายไฟและหม้อแปลงต่าง ๆ ในพื้นที่สำเพ็งโซนถนนราชวงศ์เพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม เรื่องการติดตั้งอุปกรณ์หม้อแปลงและสายไฟใหม่ ต้องรอการสรุปสาเหตุจากพิสูจน์หลักฐานและเคลียร์วัตถุพยานออกไปก่อน จึงจะสามารถติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าในที่เดิมและสายไฟให้ใหม่ได้ โดยรับประกันความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ส่วนเรื่องการนำสายไฟบริเวณถนนราชวงศ์ลงใต้ดินนั้น อยู่ในระหว่างการพูดคุยและเตรียมพิจารณาต่อไปในอนาคต


ทั้งนี้ แม้ผู้เสียหายระบุว่ากำลังดำเนินการพูดคุยกับทางการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งยังไม่ได้ดำเนินการฟ้องร้องแต่อย่างใด แต่เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมาย หากสามารถสรุปสาเหตุได้อย่างเป็นทางการว่า เกิดจากหม้อแปลงไฟฟ้ากับสายไฟจริง การไฟฟ้านครหลวงในฐานะที่เป็นเจ้าของระบบหม้อแปลงไฟฟ้าและสายไฟต้องเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยอาศัยมาตรา 437 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เว้นแต่ว่า หากการไฟฟ้านครหลวงสามารถพิสูจน์ได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัย กล่าวคือ การไฟฟ้าฯ ได้พยายามสุดความสามารถในการซ่อมบำรุงป้องกันดังกล่าวแล้ว หรือเป็นสาเหตุที่หม้อแปลงระเบิดมาจากความผิดของผู้เสียหายเอง การไฟฟ้านครหลวงก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ปรากฎเป็นตัวอย่างแนวบรรทัดฐานตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2537


จึงกล่าวได้ว่า ในทางกฎหมาย หากเกิดเหตุในลักษณะเช่นนี้อีกในอนาคตและสาเหตุแน่ชัดว่ามาจากระบบหม้อแปลงไฟฟ้าหรือสายไฟ ประชาชนสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลให้การไฟฟ้านครหลวงผู้เป็นเจ้าของระบบรับผิดชอบได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 โดยต้องรอข้อสรุปอีกครั้งว่า #ไฟไหม้สำเพ็ง ครั้งนี้มีสาเหตุจากหม้อแปลงไฟฟ้าหรือไม่


ป้ายไวนิลที่มีข้อความขนาดใหญ่ว่า “ห้ามใช้อาคาร” แสดงให้เห็นว่าเป็นพื้นที่อันตราย


จาก #ไฟไหม้สำเพ็ง สู่ “จัดระเบียบสายไฟสายสื่อสาร”


แม้ตอนนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ต้นเหตุของโศกนาฏกรรม #ไฟไหม้สำเพ็ง มาจากการระเบิดของหม้อแปลงไฟฟ้า และไฟลุกลามจากสายไฟสายสื่อสารที่ไร้ระเบียบหรือไม่ แต่ในห้วงระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ก็ปรากฎเหตุการณ์ไฟไหม้สายไฟสายสื่อสารที่หวุดหวิดซ้ำรอยและทำให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหานี้หลายครั้ง อาทิ ปากซอยลาดพร้าว 111 เขตบางกะปิ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม หรือในต่างจังหวัดอย่างที่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่คร่าชีวิตยกครัวไป 3 ราย


(แฟ้มภาพ) ร่องรอยสายสื่อสารที่เสียหาย บริเวณปากซอยลาดพร้าว 111 เขตบางกะปิ วันที่ 12 กรกฎาคม


(แฟ้มภาพ) ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชนหมัดกับ
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ภายหลังการประชุมร่วมกันเพื่อหารือ
เรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสารในกรุงเทพมหานคร วันที่ 4 กรกฎาคม


อาจจะกล่าวได้ว่า #ไฟไหม้สำเพ็ง ทำให้ปัญหาสายไฟสายสื่อสารถูกกลายเป็นประเด็นที่นำมาถกเถียงในแวดวงสังคมอีกครั้ง มันไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาของสายรกรุงรังที่เห็นทั่วไปจนชินตาของผู้คน หากแต่กลายเป็นต้นเหตุของภัยพิบัติอย่างอัคคีภัยได้ จึงนำมาสู่นโยบายการจัดระเบียบสายไฟสายสื่อสาร ทั้งการรื้อสายไฟและสายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งานออกไป ติดตั้งสายให้เป็นระเบียบ รวมทั้งการร้อยสายเหล่านี้ลงสู่ใต้ดิน สอดคล้องกับเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้หารือร่วมกันกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการจัดระเบียบทั่วกรุงเทพฯ และจะขยายจัดระเบียบให้ทั่วทั่งประเทศ โดยตอนนี้ได้เริ่มดำเนินการเคลียร์สายไฟสายสื่อสารลงสู่ใต้ดิน รวมไปถึงการจัดระเบียบสายที่รุกรังให้เป็นระเบียบในหลาย ๆ จุด ซึ่งถ้าหากทำสำเร็จ นอกจากจะทำให้ทัศนียภาพของเมืองกลับมาสวยงามอีกครั้ง ยังจะช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชนมากขึ้นที่จะไม่เผชิญเหตุอัคคีภัยจากสายพวกนี้ ดังตัวอย่างเช่น ถนนพญาไทบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือบริเวณถนนสีลมที่ได้นำสายลงใต้ดิน จนมีทัศนียภาพที่สวยงาม ไม่ปรากฎภาพสายที่รกรุงรังให้เสี่ยงอันตรายอีกต่อไป



ถนนพญาไท บริเวณหน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวอย่างถนนที่นำสายลงดิน



ถนนสีลม ตัวอย่างถนนที่นำสายลงดิน


แต่ถึงกระนั้น ประชาชนยังคงกังวลใจต่อความปลอดภัยที่ตนเองควรจะได้รับ ตราบใดที่สายไร้ระเบียบเหล่านี้ ยังคงพบเห็นได้ทั่วไปในหลาย ๆ จุด ทั่วกรุงเทพฯ เสี่ยงที่จะเกิดเหตุซ้ำรอยได้ จึงคาดหวังว่า #ไฟไหม้สำเพ็ง จะเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น และเป็นบทเรียนให้ทางภาครัฐกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหาการจัดระเบียบสายไฟสายสื่อสารอย่างยั่งยืนในอนาคต ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการร้องเรียนหรือพบเห็นจุดเสี่ยงที่ควรจะต้องเร่งจัดการโดยเร็วที่สุด สามารถร้องเรียนไปยังกรุงเทพมหานคร ผ่าน Traffy Fondue สายด่วนการไฟฟ้านครหลวง เบอร์ 1130 หรือสายด่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เบอร์ 1212 หรือ www.1212occ.com


ศรมัณ วงศาโรจน์ รายงาน


โดย JitrarutP

29 ก.ค. 2565

209 views

EP อื่นๆ