เศรษฐกิจ

'เงินบาทอ่อน' ซ้ำเติมของแพง อดีตรมว.คลัง ชี้ ยังไม่หวั่นถึงวิกฤตต้มยำกุ้ง

โดย panwilai_c

22 ก.ย. 2565

32 views

คำถามที่ตามมา เงินบาทอ่อนค่า ใครได้ใครเสีย? แน่นอน กลุ่มที่เสียประโยชน์ หรือ ได้รับผลกระทบ คือ ผู้ลงทุนและผู้นำเข้า ที่ต้องซื้อของจากต่างประเทศแพงขึ้น ส่วนคนที่วางแผนเดินทางไปต่างประเทศ และกลุ่มนักเรียนนอก ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องที่ยว หรือ ศึกษาต่อต่างประเทศสูงขึ้น โดยเฉพาะถ้าไปสหรัฐอเมริกา



อีกกลุ่มคือ ผู้ที่เป็นหนี้กับต่างประเทศ จะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นทันที เพราะต้องใช้เงินบาทมากขึ้น ในการชำระหนี้เงินสกุลต่างประเทศ และเงินทุนจะไหลออกจากตลาดหุ้นไทย เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยไทย-สหรัฐ ห่างถึง 2.5 % กว้างสุดตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์



ส่วนใครได้ประโยชน์ คำตอบคือ ผู้ส่งออก รายได้จากการส่งออก ซึ่งเป็นสกุลเงินต่างประเทศแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น รวมถึงคนทำงานต่างประเทศ และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ที่รับเงินสกุลต่างประเทศ นำรายได้มาแลกเป็นเงินบาทมากขึ้น



อย่างไรก็ดี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกรณ์ จาติกวณิช ระบุว่า บาทอ่อนเป็นปัญหา แต่ไม่ใช่เป็นวิกฤต ซึ่งวิกฤตจะเกิดขึ้นได้ หากเราประกาศปักหลักสู้กับดอลลาร์ ด้วยการกำหนดเป้าอัตราแลกเปลี่ยนที่สวนสภาวะตลาด ไม่ว่าเป้านั้นจะเป็น 35 บาท หรือเท่าไรก็ตาม



พร้อมเตือนอย่าสร้างความตื่นตระหนก เงินบาทที่ 37 จะไม่ทำให้เกิดวิกฤตแบบต้มยำกุ้งในอดีต เหตุทุนสำรองไทยสูงถึง 8 ล้านล้านบาท คิดเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศที่ 114% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่สิ่งที่ต้องทำ คือ ช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูง


รับชมทางยูทูปที่ : https://youtu.be/RGuW_Y2nV3A

คุณอาจสนใจ