สังคม

ผู้จัดการ กยศ. ยันไม่ล้างหนี้ แจงกระทบงบประมาณแผ่นดิน

โดย panwilai_c

19 ส.ค. 2565

43 views

กระแสดราม่าเรื่อง "ล้างหนี้ กยศ." ที่มีการรณรงค์ให้เข้าชื่อ 1 หมื่นชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายล้างหนี้ กยศ. หลายคนสงสัยที่มาที่ไปของเรื่องนี้



วันนี้ (19 ส.ค. 65) ทีมข่าวการเมือง ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.ษัษรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันแคมเปญล่าชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1 หมื่นชื่อ เพื่อเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งล่าสุดกลายเป็นดราม่าว่า มีผู้คนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยที่จะไปล้างหนี้ กยศ. เพราะเห็นว่า เมื่อกู้มาแล้วก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องใช้หนี้ และ กยศ.ก็ยังเปิดโอกาสให้มีการเจรจาประนีประนอม ผ่อนผัน ในการใช้คืนหนี้



ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือกยศ. ยันไม่ล้างหนี้กยศ. ตามที่โซเซียลแห่โพสต์ความเห็นต่าง 2 ฝ่ายจาก #ล้างหนี้ กยศ. ที่ล่ารายชื่อ เพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายยกเลิกหนี้ กยศ. แจง จะกระทบคนรุ่นใหม่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา เพราะ กยศ. เป็นกองทุนหมุนเวียน ที่ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินในการให้กู้ยืม



ช่วงบ่ายที่ผ่านมา คุณชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. เปิดเผยเรื่อง ว่า "ตามที่ปรากฏเป็นประเด็นที่มีข้อโต้แย้งในสื่อสังคมออนไลน์ #ล้างหนี้ กยศ. โดยการล่ารายชื่อเพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายยกเลิกหนี้ กยศ. นั้น



ขอชี้แจงว่า กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการในลักษณะทุนหมุนเวียน ที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไร เพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ กู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อปี และให้เวลาผ่อนชำระนานถึง 15 ปี ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมไปแล้ว 6,217,458 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 696,802 ล้านบาท และกองทุนมีเงินหมุนเวียนจากการชำระคืนกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี



ทำให้กองทุนมีเงินให้นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องกู้ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมา โดยในปีการศึกษา 2565 กองทุนได้เตรียมเงินกว่า 38,000 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้กู้ยืมจำนวนกว่า 600,000 ราย



ที่ผ่านมากองทุน กยศ. เป็นหน่วยงานที่ให้โอกาสและช่วยเหลือผู้กู้ยืมมาโดยตลอด ซึ่งการยกเลิกหนี้ กยศ. ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษา นอกจาก จะส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินแล้ว ยังส่งผลต่อบรรทัดฐานของสังคม ด้านความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบและวินัยทางการเงินของคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นอนาคตของประเทศ



ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3,458,429 ราย เป็นยอดหนี้คงเหลือ 337,857 ล้านบาท หากยกเลิกหนี้ จะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา อย่างไรก็ตาม กองทุนอยู่ระหว่าง ปรับปรุงกฎหมายผ่อนปรน และช่วยเหลือลดภาระของผู้กู้ยืม โดยจะปรับโครงสร้างหนี้ การแปลงหนี้ เพื่อขยายเวลาผ่อนชำระ และลดอัตราเบี้ยปรับ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น



และในขณะนี้ กองทุนได้ขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ ช่วยเหลือผู้กู้ยืม ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม นี้ โดยลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี



รวมถึงผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเหลือ 0.01% ต่อปี ผู้กู้ยืมที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ ลดเงินต้น 5% ผู้กู้ยืมที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้ และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว ลดเบี้ยปรับ 100% ผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี ลดเบี้ยปรับ 80% และผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี ที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมด ให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) อีกทั้ง ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี ชะลอการบังคับคดีไว้ เว้นแต่คดีที่จะใกล้ขาดอายุความ และงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้กู้ยืม หรือผู้ค้ำประกัน



ทั้งนี้ กองทุนขอยืนยันว่า "จะเป็นหลักประกันให้ทุกครอบครัวว่า น้องๆที่ขาดแคลนสามารถกู้เงินได้ทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม ในการเข้าถึงการศึกษา"



เมื่อวานนี้ (18 ส.ค. 65) นายนพดล เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ออกมาชี้แจง จาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า การยกหนี้ กยศ. ไม่ใช่การแก้ปัญหาหนี้ กยศ. แต่ทำให้ผู้กู้ขาดวินัยทางการเงิน ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต ตามกฎหมายปัจจุบัน ยังคงเป็นหลักเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ แต่ผ่อนปรนการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้และความสามารถการชำระนี้ของผู้กู้


รับชมทางยูทูปที่ :https://youtu.be/WQs8t3EjmQ0

คุณอาจสนใจ

Related News