เศรษฐกิจ

กฟผ.ชี้แจงหลักการคำนวณค่าไฟในอนาคต ต้องมาจากต้นทุนของเชื้อเพลิงทุกประเภท

โดย thichaphat_d

7 ต.ค. 2565

292 views

จากข่าว กฟผ.ชี้แนวโน้มค่าไฟปี 66 อาจสูงถึง 13.30 บาท/หน่วย หากสงครามยังยืดเยื้อ วอนช่วยกันประหยัดไฟที่ออกอากาศผ่านทางรายการเรื่องเล่าเช้านี้ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ส่งผลให้ประชาชนวิตกกังวลถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้าในอนาคต

ในเวลาต่อมา นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทำการแทน ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงว่า การระบุถึงตัวเลขราคาค่าไฟฟ้า 13.30 บาทต่อหน่วย นั้น อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้

กฟผ. จึงขอเรียนชี้แจงดังนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่คำนวณจากต้นทุนเชื้อเพลิง LNG ตัวเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาแพงที่สุดในกลุ่มเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้าในขณะนี้ โดย กฟผ. ได้สมมุติการคำนวณ เพื่อประมาณการค่าไฟฟ้าในอนาคตว่า หากราคา LNG มีการปรับขึ้นจาก 40 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เป็น 50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จะส่งผลให้เกิดต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ซึ่งยังมิใช่ราคาค่าไฟฟ้าที่แท้จริง

โดยราคาที่จะสะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แท้จริงได้นั้น จะคำนวณมาจากสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) และเป็นการคำนวณที่มาจากต้นทุนของเชื้อเพลิงทุกประเภทในการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การอธิบายด้วยการคำนวณดังกล่าว กฟผ. มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่า ในการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า นั้น กฟผ. จะเดินเครื่องจากเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนถูกที่สุดก่อนตามลำดับ เช่น จากพลังน้ำ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไปจนถึงเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนแพงที่สุด

การยกตัวอย่างถึงต้นทุนเชื้อเพลิง LNG ที่มีต้นทุนแพงสุดตามข้อความข้างต้น เพื่อให้ประชาชนมองเห็นความเป็นไปได้หากประเทศไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงดังกล่าวในสถานการณ์วิกฤติพลังงาน ก็จะส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นด้วย เพื่อให้ประชาชน รวมทั้งทุกภาคส่วนของประเทศไทย ร่วมด้วยช่วยกันประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างจริงจัง

ทาง กฟผ. จึงขออภัยสำหรับข้อมูลที่อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน มา ณ ที่นี้


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/ANGIzZiHxc0

คุณอาจสนใจ

Related News