เศรษฐกิจ

5 บิ๊ก 'บะหมี่กึ่งฯ' จับมือกดดันพาณิชย์ ขอปรับขึ้นเป็นซองละ 8 บาท หากไม่ได้ จ่อลดขายในประเทศ

โดย nattachat_c

16 ส.ค. 2565

25 views

ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ยี่ห้อมาม่า , บริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด ยี่ห้อซื่อสัตย์ , บริษัท โรงงานผลิตอาหารไทย จำกัด ยี่ห้อ ไวไว , บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ยี่ห้อยำยำ และ บริษัท นิสชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ยี่ห้อนิสชิน ได้รวมตัวแถลงชี้แจงต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่แท้จริง


ซึ่งยอมรับว่าต้องแบกรับมานานกว่าหนึ่งปี และครั้งนี้เชื่อว่าเป็นการปรับขึ้นเพื่อปรับฐาน โครงสร้างราคาที่แท้จริง หลังจากการปรับครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2551 หรือ 14 ปีก่อน ซึ่งได้ปรับขึ้นจากซองละ 5 บาท มาเป็นซองละ 6 บาท


นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ “มาม่า” เปิดเผยว่า การรวมตัวทั้ง 5 ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีที่ออกมาพูดถึงผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้นและการยื่นขอขึ้นราคา จาก 6 บาทต่อซอง เป็น 8 บาทต่อซอง เพราะทุกคนไม่ไหวแล้ว ที่ผ่านมามีมาม่ารายเดียวที่ออกมาพูด คนอาจจะเข้าใจผิดว่ามีมาม่ารายเดียวที่ขอขึ้น แต่ทุกรายมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเหมือนกันหมด โดยเฉพาะแป้งสาลีและน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ที่แต่ที่ผ่านมาอาจจะต่างคนต่างขอ


นายพันธ์กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (16 สิงหาคม) ตนจะเป็นตัวแทนนำหนังสือที่มีการลงนามของผู้บริหารทุกยี่ห้อไปยื่นให้กรมการค้าภายใน (คน.) ให้เร่งรัดการขึ้นราคาโดยด่วน จากนั้นจะขอดูท่าที 3-4 วัน หากยังไม่ได้รับอนุมัติหรือได้รับอนุมัติให้ขึ้นราคา 7 บาทต่อซอง จะเดินหน้าขอปรับราคาต่อไป เพราะราคา 8 บาทต่อซองที่ยื่นขอเป็นราคาต้นทุนจริงในตอนนี้และยังไม่รวมค่าแรงที่อาจจะปรับขึ้นอีกปลายปีนี้ด้วย อย่างไรก็ตามเราไม่ได้จินตนาการไว้เลยว่ารัฐจะไม่ให้ขึ้นราคา หวังว่าจะได้คำตอบที่เหมาะสม ทุกอย่างมันต้องมีเหตุมีผล ต่างคนต่างทำหน้าที่ เมื่อมีผลกระทบทำให้บริษัทขาดทุนเราก็คงอยู่เฉยไม่ได้


ที่ขอขึ้นราคาอีกซองละ 2 บาท ซึ่งปลายปี’64 มาม่าขอขึ้นราคา 1 บาท แต่จากต้นทุนสูงขึ้นทั้งแป้งสาลีจาก 250 บาทต่อถุง เป็น 500 กว่าบาทต่อถุง น้ำมันปาล์มขึ้นอีก 3 เท่าตัว แค่วัตถุดิบ 2 ตัวนี้ ผันเป็นราคาต่อซองแล้วขึ้นมา 1 บาทกว่าๆ ยังไม่รวมวัตถุดิบเกษตร เช่น พริก หอม กระเทียม ขึ้นมา 35% และแพคเกจจิ้งอีก 12-15% ที่ปรับตัวสูงขึ้นทุกตัว ยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง ล่าสุดเราเลยขอขึ้นราคาเป็น 2 บาทต่อซอง แต่กรมการค้าภายในยังไม่อนุมัติแต่อย่างใด


ทั้งนี้จากการที่ไม่สามารถปรับราคาขายในประเทศได้ ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับสัดส่วนการส่งออกเพิ่มจากเดิม 25% เป็น 30% เพราะขายได้ราคาดีกว่าถึง 2 เท่า เพราะตลาดต่างประเทศเป็นตลาดเสรี ไม่มีการควบคุมราคา ทำให้สามารถปรับราคาขายได้ตามต้นทุนจริง ซึ่งมาม่าปรับราคาไป 3-4รอบแล้ว แต่ตลาดหลักยังคงเป็นตลาดในประเทศ อย่างไรก็ตามหากไม่ได้ปรับราคาขึ้น คงไม่หยุดผลิตแต่จะส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 40% และไม่มีการจัดโปรโมชั่นเหมือนที่ผ่านมา


ถามว่าหากปรับราคาขึ้นไปแล้ว ไม่มีลงนั้น ผู้บริโภคไม่ต้องกลัวว่าสินค้าจะแพง เพราะตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศมีการแข่งขันสูง และเมื่อมีกำไรทางผู้ผลิตจะจัดโปรโมชั่นลดราคาขายเป็นการคืนกำไรให้กับผู้บริโภคอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้ปรับจะเลิกขายในบางรายการหรือไม่นั้น คงต้องปล่อยส่งออกมากขึ้น และอาจจะทำให้ไม่มีของวางจำหน่ายบ้าง

----------

นายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ “ไวไว” กล่าวว่า จากสงครามรัสเซียกับยูเครนทำให้ต้นทุนวัตถุดิบการผลิตสูงขึ้นมากโดยแป้งสาลีเพิ่มขึ้น 20-30% และน้ำมันปาล์มเพิ่มเท่าตัว มีผลให้สินค้าหลายรายการของบริษัทประสบภาวะขาดทุน และไวไวไม่ได้เป็นแค่ผู้ผลิตยังเป็นผู้จัดจำหน่ายด้วย ทำให้ได้รับผลกระทบ 2 เด้งจากราคาน้ำมันแพงและค่าขนส่งที่สูงขึ้นด้วย และหากมีปรับค่าแรงขันต่ำจะกระทบต่อต้นทุนเป็นเด้งที่ 3 เป็นวิกฤตต้นทุนหนักสุดในรอบ 50 ปี


ที่ผ่านมาเราทำเรื่องถึงกรมการค้าภายในขอปรับราคาจาก 6 บาท เป็น 8 บาท ยังไม่ได้รับอนุมัติ อยากขอให้กรมช่วยพิจารณาโดยเร็ว เพื่อให้พวกเราอยู่รอด อยู่ได้ในสภาวะแบบนี้ หากยังไม่รับอนุมัติ คงลดการขายในประเทศ เพราะยิ่งขายเยอะก็ยิ่งเจ็บตัวและเพิ่มสัดส่วนส่งออกมากขึ้นจากปัจจุบันส่งออกอยู่ที่ 30% เพราะสามารถปรับราคาได้ตามต้นทุนจริง รวมถึงบริหารจัดการโดยลดโอทีการผลิตในสินค้าบางรายการที่ขาดทุนและต้นทุนสูงมาก แต่เรายังมีสินค้าบางรายการที่ปรับราคาขึ้นได้ เช่น เส้นหมี่ไวไว เพราะไม่ใช่สินค้าควบคุม

------------

นายกิติพศ ชาญถาวรกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ “ยำยำ” กล่าวว่า ต้นทุนการผลิตของบริษัทเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่โควิด สงครามรัสเซียกับยูเครน ล่าสุดปรับขึ้นสูงถึง 40% ถือว่าครั้งนี้หนักที่สุดทำให้ขอปรับราคาอีก 2 บาทต่อซอง และปีนี้เป็นปีแรกที่บริษัทมีผลประกอบการขาดทุนในรอบ 40 ปี จากเมื่อปี 2564 มีรายได้อยู่ที่ 300 ล้านบาท


ผ่านมาเราบริหารจัดการโดยลดวันผลิตเหลืออาทิตย์ละ 6 วัน แต่ไม่ได้หยุดผลิตและพยายามส่งออกมากขึ้นโดยปัจจุบันเราส่งออกอยู่ที่ 25% เพราะได้ราคาดีกว่าขายในประเทศที่ยังไม่สามารถปรับราคาได้ แต่ถือว่ายังเป็นรายได้ที่น้อยมากเพราะตลาดหลักยังคงเป็นตลาดในประเทศ ทั้งนี้หากไม่ได้ปรับราคาขึ้น คงต้องจัดโปรโมชั่นน้อยลง ส่งออกเพิ่มขึ้นและออกสูตรใหม่เป็นสินค้าพรีเมียมมากขึ้น อยู่ระหว่างขออนุมัติจากกรมการค้าภายใน จะออก 2 รสชาติ แบบคัพราคา 25 บาท และแบบซองราคา 12 บาท
------------
นายปริญญา สิทธิดำรง กรรมการบริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ “ซื่อสัตย์” กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนการผลิตโดยรวมของบริษัทสูงขึ้นกว่า 25% ทำให้บริษัทมีผลประกอบการขาดทุนประมาณ 10% โดยผลประกอบการครึ่งปีแรกที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท ทำให้ยื่นขอปรับราคาเป็น 8 บาทต่อซองจากก่อนหน้านี้ยื่นขอปรับเป็น 7 บาท ซึ่ง ขอให้กรมการค้าภายในเร่งพิจารณาอนุมัติ เพื่อธุรกิจจะได้เดินต่อได้ และมีการแข่งขันที่เสรี ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทเป็นเด็กดีเดินตามนโยบายรัฐมาตลอดในการช่วยตรึงราคา ขนาดโรงงานผลิตรายใหญ่ๆ ยังเอาไม่อยู่ ในส่วนของบริษัทซึ่งเป็นโรงงานขนาดเล็กจะลำบากขนาดไหน


ที่ผ่านมาบริษัทได้ยอดขายจากการส่งออกมาชดเชยรายได้ในประเทศที่ขาดทุน 30% เพราะยังปรับราคาขึ้นไม่ได้ โดยปัจจุบันสัดส่วนส่งออกและขายประเทศอยู่ที่ 50:50 ทั้งนี้หากยังไม่ได้รับอนุมัติให้ขึ้นราคาอีก จะต้องเพิ่มสัดส่วนการส่งออกมากขึ้นเป็น 70% ส่วนในประเทศลดสัดส่วนหรืออาจจะหยุดขาย ทั้งนี้หากกรมอนุมัติให้ขึ้นแค่ 7 บาท ยังไม่เท่ากับต้นทุนจริง เราอาจจะบริหารจัดการใหม่ในด้านช่องทางการจัดจำหน่ายดูว่าจะลดต้นทุนส่วนไหนได้บ้าง รวมถึงส่งออกเพิ่มขึ้นอีก
-------------

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 รายได้แถลงข่าวร่วมกัน ขอให้กรมการค้าภายในพิจารณาอนุญาตให้ปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขนาดมาตรฐาน จากซองละ 6 บาท เป็นซองละ 8 บาท เนื่องจากภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมการค้าภายในได้รับทราบและติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง


ยอมรับว่าต้นทุนบางรายการมีการปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนด้านพลังงานที่เป็นทั้งต้นทุนทางตรงและทางอ้อม รวมถึงวัตถุดิบหลัก เช่น แป้งสาลี ก็มีการปรับเพิ่มขึ้น เป็นผลสืบเนื่องจากทั้งปัญหาโควิด-19 และวิกฤตด้านพลังงาน แต่ในช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ได้ตรึงราคาเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพมาโดยตลอด ซึ่งกรมการค้าภายในขอขอบคุณในความร่วมมือมาเป็นอย่างดี


สำหรับการพิจารณาอนุญาตปรับราคาจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้น จะพิจารณาเป็นรายๆ โดยอยู่บนหลักการ วิน-วิน โมเดล ที่ผู้ประกอบการต้องยังคงผลิตและจำหน่ายต่อไปได้ ผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายสั่งการไว้แล้ว


ซึ่งขณะนี้กรมการค้าภายในก็อยู่ระหว่างพิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และปัจจุบันยังไม่มีการอนุญาตให้ปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแต่อย่างใด หากพบว่าผู้ประกอบการ ห้างร้าน ร้านค้าต่างๆ รายใดมีการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าราคาแพงเกินสมควรหรือกักตุนสินค้า จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


และการจำหน่ายสินค้า ไม่ว่าจะช่องทางใดต้องแสดงราคาอย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท


ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศจะได้มีการเพิ่มความเข้มข้นในการติดตามการจำหน่ายสินค้ายิ่งขึ้น หากพบเห็นพฤติกรรมดังกล่าว สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน กรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ

-------------

รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/ABYwOrwnlrI

คุณอาจสนใจ

Related News