เศรษฐกิจ

ของแพงกระทบอาหารเด็ก หลังราคาวัตถุดิบพุ่ง ผอ.โรงเรียน เผยหัวละ 21 บาทไม่พอแล้ว

โดย kanyapak_w

28 มิ.ย. 2565

536 views

ปัญหาราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง กำลังส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอย่างเป็นวงกว้าง รวมไปถึงโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน เช่นเดียวกับที่โรงเรียนวัดหุบกระทิง ต.เบิกไพร อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี กำลังประสบอยู่




นักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 คนหนึ่ง เปิดเผยว่า ตนและเพื่อนๆ ชื่นชอบแกงเขียวหวาน หนึ่งในเมนูอาหารกลางวันของโรงเรียนมากเป็นพิเศษ ด้วยมีรสชาติอร่อย นอกจากนี้ยังมี ยำหมูยอ ผัดกะเพราไข่ดาว ยำวุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ กะเพราะปลา เป็นต้น




ทว่าสถานการณ์ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้โรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนเมนูอาหาร อย่างเช่นเมนูที่มีส่วนผสมของหมู ก็จะลดปริมาณ และปรับนำเนื้อไก่ รวมไปถึงเนื้อสัตว์ชนิดอื่นมาทดแทน เพื่อให้ยังคงสามารถทำอาหารให้กับนักเรียนทุกคนได้อย่างเพียงพอ แม้จะเข้าใจ แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้ ตนก็อยากให้ข้าวของถูกลง เพื่อที่โรงเรียนจะได้มีงบประมาณจัดซื้ออาหารให้กับนักเรียนได้รับประทานอย่างเช่นในอดีต



ดร.สุนันทา ปานณรงค์ ผอ.โรงเรียน เปิดเผยว่า โรงเรียนวัดหุบกระทิง เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัยไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น มีนักเรียนรวมทั้งสิ้น 490 คน แบ่งเป็นนักเรียนระดับชั้นปฐมวัย 56 คน ประถมศึกษา 1-6 จำนวน 310 คน และมัธยมศึกษา 1-3 จำนวน 124 คน




แม้ว่าปัจจุบันคณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบให้มีการปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนตั้งแต่ ชั้นปฐมวัย– ประถมศึกษา 6 เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 จากอัตราเดิมที่ 20 บาท/คน/วัน มาเป็น 21 บาท/คน/วัน โดยยึดหลักตาม Thai School Lunch




ทว่างบประมาณในอัตราดังกล่าว ทางโรงเรียนยอมรับว่าไม่เพียงพอกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้งบประมาณ 21 บาท จะถูกแบ่งเป็นค่าจ้างแม่ครัว ค่าแก๊สหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ตลอดจนค่าวัตถุดิบ ข้าวสาร เครื่องปรุงรส เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ หรือขนมหวาน




โดยทางโรงเรียนใช้วิธีแก้ปัญหา ด้วยการปรับเปลี่ยนเมนู ลดวัตถุดิบที่มีราคาแพง อย่างเนื้อหมูชิ้น ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีน มาเป็นหมูบด เนื้อไก่ หรือเนื้อปลา ที่มีราคาถูกกว่าแทน ในส่วนของผักก็หันมาใช้ผักตามช่วงฤดูกาล รวมทั้งการอุดหนุนชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากนี้บางครั้งทางโรงเรียนยังได้รับความอนุเคราะห์จากวัด และชุมชน ที่ให้การสนับสนุนในเรื่องของวัตถุดิบอาหาร จึงทำให้สามารถดำเนินการโครงการอาหารกลางวันให้กับนักเรียนได้



แต่ในส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งไม่ได้รับการอุดหนุนในโครงการอาหารกลางวัน ปัจจุบันพบว่า มีนักเรียนส่วนหนึ่งต้องหยุดเรียน เนื่องจากไม่มีเงินค่าอาหารกลางวัน ด้วยฐานะทางครอบครัวค่อนข้างลำบาก ซึ่งอาจจะส่งผลให้นักเรียนเหล่านี้ เสี่ยงต่อการออกนอกระบบการศึกษาในอนาคต




ดังนั้นตนมองว่า จากสถานกาณ์ปัจจุบัน ค่าอาหารกลางวันของนักเรียน 21 บาท/คน/วัน ไม่เพียงพอ ควรจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 30 บาท/คน/วัน รวมไปถึงขยายโอกาสให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาได้รับอุดหนุนค่าอาหารกลางวันด้วยเช่นกัน




คุณอาจสนใจ

Related News