เศรษฐกิจ

กองทุนน้ำมันฯ หวัง รัฐช่วยเงินหนุนสภาพคล่อง หลังกู้เงินไม่ทัน พ.ค.นี้

โดย paranee_s

27 พ.ค. 2565

52 views

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพคล่องเหลืออยู่ 1.2 หมื่นล้านบาท จะสามารถใช้ในการพยุงราคาน้ำมันได้อีกประมาณเดือนกว่า หลังจากนั้นจะต้องหาสภาพคล่องมาเติม ซึ่งมี 2 แนวทาง คือ การกู้เงิน ในกรอบวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทตามมติคณะรัฐมนตรี และการขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล


ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะติดลบอยู่ 7.6 หมื่นล้านบาท โดยตอนนี้เงินไหลเข้า-ออกของกองทุนในแต่ละวันติดลบอยู่ประมาณ 4-5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสภาพคล่องที่มีอยู่ กับสถานการณ์ราคาน้ำมันในปัจจุบันที่มีความผันผวนอย่างมาก จึงต้องเร่งหาสภาพคล่องมาเพิ่มเติม ซึ่งยังอยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงิน และที่ยังไม่อนุมัติ เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวน จากผลกระทบโควิด-19 สงคราม ฝีดาษลิง รวมถึงต้องพิจารณาสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย แต่ยืนยันแม้ว่าจะกู้ไม่ทันในเดือน พ.ค. 2565 และสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ หมดไป ก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อกองทุน เพราะกองทุนน้ำมันขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลได้


นอกจากนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. 2565 และในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2565 รัฐบาลจะช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลครึ่งหนึ่งโดยกำหนดอัตราเพดานไว้ไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร แม้ตอนนี้รัฐบาลยังอุดหนุนไม่ถึงครึ่งของราคาเพดาน ก็ถือว่าไม่ผิดมติ ครม. เพราะกำหนดไว้ชัดเจนว่ามีเวลาดำเนินการในส่วนนี้จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2565 ที่จะปรับราคาน้ำมันดีเซลไปที่ 35 บาทต่อลิตร


แต่ต้องพิจารณาสถานการณ์ราคาน้ำมัน ณ ขณะนั้นด้วย หากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศก็อาจจะไม่ถึง 35 บาทต่อลิตร ส่วนตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 เป็นต้นไป ตามมติ ครม. ระบุว่าจะไม่มีการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลแล้ว แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายจะพิจารณาอีกครั้ง


และในวันนี้กรมสรรพสามิตและสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงโครงการพัฒนาระบบติดตามและการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกรมสรรพสามิตและสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำระบบงานสารสนเทศมาสนับสนุนการทำงานได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ในส่วนงานของการนำส่งเงิน ขอรับเงินชดเชย และการขอรับคืนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประกอบการ จากเดิมที่ใช้ระบบเอกสาร มาเป็นระบบออนไลน์ ทำให้ลดระยะเวลาดำเนินการจากเป็นเดือน เหลือแค่เพียงภายใน 1 ถึง 2วัน


คุณอาจสนใจ