เศรษฐกิจ

ไฟเขียว แก้ กม.ประกันสังคม ปลดล็อกเงินชราภาพ 'ขอเลือก - ขอคืน - ขอกู้'

โดย thichaphat_d

11 พ.ค. 2565

758 views

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 65 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน


โดยเป็นการ 'ขอเลือก - ขอคืน - ขอกู้' โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ขอเลือก : เลือกรับเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพ กรณีมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

2. ขอคืน : นำเงินกรณีชราภาพออกมาใช้บางส่วน ก่อนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

3. ขอกู้ : เป็นหลักค้ำประกันการกู้เงินกับธนาคาร หรือสถาบันการเงิน


นายธนกร กล่าวว่า การแก้ไขร่างพ.ร.บ. เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงรองรับเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยด้วย


นอกจาก กรณีชราภาพ 'ขอเลือก - ขอคืน - ขอกู้' ยังมีสิทธิประโยชน์อื่นอีก ดังนี้


- เพิ่มผลประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้ จากร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เพิ่มเป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง


- กรณีคลอดบุตร เพิ่มระยะเวลาในการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงาน เพื่อการคลอดบุตร โดยเหมาจ่ายในอัตราครั้งละร้อยละ 50 ของค่าจ้าง จากเดิมระยะเวลา 90 วัน เพิ่มเป็นระยะเวลา 98 วัน


- กรณีสงเคราะห์บุตร ให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง และภายหลังการสิ้นสภาพเป็นผู้ประกันตน ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์ บุตรต่อไปอีก 6 เดือน


- แก้ไขขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง จากเดิม อายุ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นอายุ 65 ปีบริบูรณ์


ด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น  รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณี นักวิชาการมองว่า 'ขอคืน' คือการนำเงินออกมาใช้ก่อนจะกระทบทำให้เสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมลดลง ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่จู่ๆ จะขอคืนได้เลย แต่ต้องเกิดวิกฤติเช่นสถานการณ์โควิด ถูกล็อกดาวน์ และเป็นวิกฤติของโลก เราจึงออกเป็นกฎหมายนี้ออกมาเพื่อช่วยเหลือ  ซึ่งเราจำเป็นต้องทำเรื่องนี้เพราะกฎหมายประกันสังคม 33 ปีไม่เคยแก้ไขและไม่เคยแก้ปัญหาในยามจำเป็น ทุกคนที่มาบริหารคิดอย่างเดียวว่ากองทุนต้องให้คงไว้ ซึ่งความจริงกองทุนนั้นคงไว้อยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ประกันตนมีประตูปิดเปิดหลายๆประตู


ส่วน 'ขอเลือก' ซึ่งเรามีกองทุนชราภาพ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ต้องรอส่งเงินเกิน 180 เดือน หรือ อายุ 55 ปี จึงจะได้เป็นบำนาญ แต่ใครส่งไม่ถึงจะได้บำเหน็จ กลายเป็นไม่มีประตูให้เขาได้เลือก เราจึงแก้ให้สามารถเลือกได้คือพออายุ 55 ปี ครบกำหนดเกษียณ หากมีหนี้สินต้องใช้เงินก้อนให้เขาสามารถเลือกได้ว่าจะเอาบำเหน็จหรือบำนาญ


ส่วน 'ขอกู้' หากเราตรวจสอบดูว่าเรามีเงินชราภาพขอยกตัวอย่างว่ามีเงินอยู่ 2 แสนล้านบาท แต่เราไม่มีเงินสด ไม่มีเครดิตจะไปกู้สถาบันการเงินโดนถ้าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่าน ผู้ประกันตนสามารถไปกู้สถาบันการเงิน โดยกระทรวงแรงงานจะใช้สิทธิ์ในเงินชราภาพไปค้ำประกันได้ เปรียบกับผู้ประกันตนมีหลักทรัพย์ใช้ค้ำประกันได้ชัวร์ยิ่งกว่าที่ดิน ก็คือเงินที่หักไปให้ประกันสังคมทุกเดือน  ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์เพราะเมื่อถึงเวลาที่เราจำเป็นต้องใช้เงิน เราก็ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ


ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ระบุว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่จะผิดกับหลักการหรือไม่ เพราะเป็นการนำเงินชราภาพออกมาใช้ก่อนจะขัดหลักการหรือไม่ ทำให้นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่เป็นผู้เสนอวาระดังกล่าว อธิบายว่า เรื่องนี้ได้หารือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว มีการพูดคุยจนได้ข้อสรุปตกกันว่าชาวบ้านมีสิทธิที่จะเลือกใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ สอบถามจากหลายหน่วยงานเขาว่าทำได้ ไม่ขัดหลักการแต่อย่างใด


ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้สอบถามถึงเรื่องอัตราดอกเบี้ย โดยนายสุชาติชี้แจงว่า ผู้กู้จ่ายแค่ 1.5% ต่อปีเท่านั้น ถือเป็นอัตราที่ต่ำมาก


พล.อ.ประยุทธ์ได้เอ่ยปากชมนายสุชาติที่นำเสนอได้ดีว่า ทำงานได้ดี พูดจาคล่องแคล่ว อธิบายได้ดี ตอบคำถามได้ดี เดี๋ยวพอกฎหมายเข้าสภาขอให้ไปตอบที่สภาด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News