เศรษฐกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย.65 ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน หอการค้าฯแนะควรมี คนละครึ่ง เฟส 5

โดย thichaphat_d

11 พ.ค. 2565

30 views

วานนี้ (10 พ.ค. 65) ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2565 หรือ CCI ปรับตัวลดลงจากระดับ 42 เป็น 40.7 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา


โดยมีหลายปัจจัย ดังนี้

  • ผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน
  • ปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นรวม
  • ความกังวลอย่างมากกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า
  • ราคาน้ำมันแพง ส่งแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง
  • ราคาน้ำมันแพง ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต
  • ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและปัญหาราคาสินค้าแพง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่อง


ทั้งนี้ปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต ส่งผลความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 26.2 มาอยู่ที่ 25.4 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำมาก แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค


ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 49.4 มาอยู่ที่ระดับ 48.0 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต และระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะสงคราม ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 2.5- 4 % ในปีนี้


นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เสี่ยงที่จะลดลงอีก และใกล้เคียงระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์หรือในรอบ 24 ปี หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ความสุขลดลง ข้าวของแพง ประชาชนงดจับจ่ายใช้สอย และยังเจอความเสี่ยงภายนอกจากการส่งออกที่มีโอกาสชะลอตัว จากเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม


ซึ่งรัฐควรมีมาตรการดูแลราคาพลังงาน ค่าครองชีพของประชาชน โดยกระทรวงการคลังควรต่ออายุมาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 20 พ.ค.นี้ อย่างน้อย 1.50 ถึง 3 บาทต่อลิตร ไปอีก 1 เดือน เพื่อลดความร้อนแรงของราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มแพงขึ้น ภายใต้สมมติฐาน ราคาน้ำมันลิตรละ 35 บาท และอาจยืดไปไม่ได้นานกว่านี้ เพราะต้องคำนึงถึงรายได้ที่ต้องจัดเก็บด้วย และต้องให้ประชาชนปรับตัว


โดยอาจใช้มาตรการอื่นผสม ซึ่งยังยืนยันว่ารัฐบาลควรใช้มาตรการ คนละครึ่ง เฟส 5 อย่างน้อยคนละ 1,000 บาท เป็นไปได้คือให้เริ่ม 1 มิ.ย.นี้ จะทำให้เม็ดเงินสะพัด 60,000 ล้านบาท รวมถึงเปิดให้ธุรกิจกลางคืนได้กลับมาดำเนินธุรกิจสร้างเม็ดเงิน 100,000 ล้านบาทต่อเดือน จ้างงานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องถึงล้านคน บวกกับมาตรกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวไทยเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 โตอย่างน้อย 3.5%


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/pJQuEZO96ms

คุณอาจสนใจ

Related News