เศรษฐกิจ

กระทบเป็นลูกโซ่! เสียง ปชช.โอดของแพง-ค่าขนส่งพุ่ง หลังดีเซลขึ้น 2 บาท

โดย thichaphat_d

2 พ.ค. 2565

76 views

หลังจากที่คณะกรรมการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีมติเห็นชอบให้มีการปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อลิตร โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 65 เป็นต้นไป และจะมีการปรับราคาขึ้นเป็นขั้นบันได ไปจนถึง 35 บาทต่อลิตร ก็ทำให้บรรดาผู้ประกอบการรถขนส่งสินค้าทางการเกษตรต่างๆ เตรียมที่จะปรับราคาค่าขนส่งขึ้นตามไปด้วย

ทีมข่าวสำรวจความเห็นประชาชนผู้ใช้น้ำมันดีเซล ในวันแรกที่มีการปรับราคาลอยตัวดีเซล 2 บาท/ลิตร พบ ส่วนใหญ่รู้สึกว่ากระทบต่อค่าครองชีพให้เพิ่มขึ้น โดยที่ไม่มีทางเลือก แม้จะเข้าใจว่าจำเป็นต้องขึ้นราคาแต่ ประชาชนก็แบกรับภาระค่าครองชีพไม่ไหว

โดยเฉพาะในช่วงที่ประชาชนยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 หลายราย มีรายได้ที่ลดลงจากการลดต้นทุนของนายจ้าง แต่ในขณะเดียวกันค่าครองชีพกลับเพิ่มขึ้นในทุกด้าน จึงอยากวอนให้รัฐบาลเห็นใจและมีมาตรการช่วยลดค่าครองชีพ หากเป็นไปได้ก็อยากให้ตรึงราคาน้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 30 บาทเท่าเดิม

ด้านบรรดาผู้ประกอบการรถขนส่งสินค้าทางการเกษตรต่างๆ เตรียมที่จะปรับราคาค่าขนส่งขึ้นตามไปด้วย บรรดาพ่อค้า แม่ค้าผลไม้ ต่างรู้สึกกังวลใจ เนื่องจากขณะนี้ผู้รับเหมารถขนส่งผลไม้หลายราย เริ่มที่จะมีการแจ้งความประสงค์ที่จะปรับขึ้นราคาค่าขนส่งผลไม้อีก 20% จนทำให้รายได้จากการขายผลไม้ลดลงเป็นอย่างมาก

โดยพ่อค้าสัปปะรด ตลาดเทิดไท โคราช เปิดเผยว่า ตนเองนั้นเหมารถกระบะไปรับสัปปะรด พันธุ์ตราดสีทอง มาจากจังหวัดตราด โดยจ่ายราคาเหมารถต่อเที่ยว เที่ยวละ 5,000 บาท สามารถบรรทุกสัปปะรดมาได้ประมาณ 3 ตัน ตอนนี้สัปปะรดก็ราคาตกต่ำ ขายได้กำไรลูกละแค่ 1  บาทเท่านั้น ถือว่ากำไรน้อยมาก

และภายหลังจากที่รัฐบาลปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล ก็ทำให้ผู้ประกอบการรถขนส่งผลไม้ แจ้งความประสงค์มาว่าในเดือนนี้ จะขอปรับขึ้นราคาค่าขนส่งเป็นเที่ยวละ 5,500-6,000 บาท หรือคิดเป็น 20% ของค่าเหมาขนส่งต่อเที่ยวในปัจจุบัน เพราะทนแบกรับภาระค่าน้ำมันดีเซลที่แพงขึ้นไม่ไหว

ด้านผู้ขับรถส่งน้ำแข็ง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ได้เข้ามาเติมน้ำมันก็รู้สึกตกใจมาก เมื่อเด็กปั๊มมาบอกว่าน้ำมันขึ้นอีกลิตรละ 2 บาท ซึ่งโดยส่วนตัวมีผลกระทบมาก เพราะต้องวิ่งรถน้ำแข็งส่งลูกค้าในราคาเท่าเดิม แต่ต้นทุนเราเพิ่มขึ้นจะไปเก็บลูกค้าเพิ่มก็ไม่ได้

ขณะที่ผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวในทะเล ต่างได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น และไม่สามารถปรับราคาให้นักท่องเที่ยวจ่ายเพิ่มขึ้นได้ จำยอมต้องลดรายได้ลงเพื่อให้มีรายได้เข้ามา เพราะที่ผ่านมาต่างต้องผ่านวิกฤตช่วงโควิดระบาดต้องหยุดกิจการเป็นระยะเวลานาน

โดยผู้ประกอบการเรือหางยาวบริการนักท่องเที่ยว จ.ตรัง กล่าวว่า ได้รับผลกระทบจากน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทางผู้ประกอบการก็มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ลดลง ซึ่งในช่วงระยะนี้ยังคงไม่ปรับราคานักท่องเที่ยว เพราะผู้บริโภคเองก็มีจำกัดทางผู้ประกอบการจะปรับมากก็ไม่ได้ ขณะนี้ผู้ประกอบการเรือทัวร์คิดราคาอยู่ที่เที่ยวละ 3,500-4,000 บาท แต่ถ้าราคาน้ำมันยังปรับตัวสูงขึ้นกว่านี้ก็จำเป็นต้องปรับราคาขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 300-500 บาท ต่อเที่ยว

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ให้ความเห็นว่า “การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลขึ้นลิตรละ 2 บาทตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นั้น แน่นอนว่าคงจะส่งผล กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่ง และโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการเฉลี่ยอยู่ประมาณ 15% ของต้นทุนทั้งหมด ทำให้สินค้าและบริการบางประเภทมีความจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า หลังจากที่ผู้ประกอบการพยายามปรับกลยุทธ์เพื่อตรึงราคาสินค้าช่วยเหลือผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐไม่เข้ามาช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซล โดยหากปล่อยให้ราคาลอยตัวถึงระดับ 40 บาทต่อลิตร แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทุกภาคส่วนอย่างมาก และคาดว่าต้นทุนการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3-5% ทำให้ราคาขายปลีกสินค้าก็น่าจะมีการปรับขึ้นมากกว่านี้

ขณะที่นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน บอกว่า ราคาน้ำมันดีเซลเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนผลิตสินค้า แต่ไม่ใช่ต้นทุนทั้งหมด และต้นทุนค่าขนส่งมีสัดส่วน 8.75% ของต้นทุนสินค้า โดยราคาดีเซล คิดเป็น 40% ของต้นทุนค่าขนส่ง ส่วนที่เหลือเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว (เอ็นจีวี) ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ฯลฯ ถือว่าดีเซลมีสัดส่วนน้อยมากในต้นทุนผลิต และขนส่ง

นอกจากนี้ กรมยังได้วิเคราะห์ผลกระทบการขึ้นราคาดีเซลที่มีต่อต้นทุนสินค้า พบว่า ราคาที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 บาทต่อลิตร จะทำให้ ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นน้อยมากที่ 0.0004-0.15% ของต้นทุนผลิตรวม กรณีที่ดีเซลปรับขึ้นแบบขั้นบันได และสุดท้ายขึ้นไป 5 บาท ทำให้ต้นทุนสินค้าขึ้นยังไม่ถึง 1% แต่ผลกระทบของแต่ละสินค้าแตกต่างกัน ไม่ใช่เท่ากันทุกสินค้า

“ยอมรับราคาสินค้าบางส่วนต้องขยับขึ้น แต่การพิจารณา กรมจะดูโครงสร้างต้นทุนทั้งหมด และดูว่ากำไรที่ผู้ผลิตได้จากการขายยังครอบคลุมต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ เช่น ถ้ามีกำไร 5% และต้นทุนปรับขึ้น 1% ถือว่ากำไรยังครอบคลุม ก็อาจยังไม่ให้ขึ้นราคาขาย แต่ถ้ารายใดขาดทุนจะพิจารณาให้ปรับขึ้นเป็นรายๆไป เพื่อให้ผู้ผลิตอยู่ได้ ไม่หยุดผลิตจนเกิดภาวะขาดแคลนสินค้า แต่อาจไม่ให้ปรับขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคไม่เดือดร้อนมากนัก”


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/1ddcsX6sh_w

คุณอาจสนใจ

Related News