เศรษฐกิจ

แบงก์ชาติ ส่ง จม.เปิดผนึกถึงคลัง ประเมินเงินเฟ้อ 12 เดือนข้างหน้าพุ่ง 4.1% สูงกว่าเป้า

โดย thichaphat_d

13 เม.ย. 2565

99 views

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยมีเนื้อหา ระบุว่า

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 กนง. ได้ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ไตรมาส 2/65 ถึง ไตรมาส 1/66) จะอยู่ที่ 4.1% ซึ่งสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน โดยในปี 2565 ได้กำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 1-3%

ทั้งนี้ กนง. ชี้แจงว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนเคลื่อนไหวออกนอกรอบ มาจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน เป็นสำคัญ โดยแรงกดดันเงินเฟ้อส่วนใหญ่มาจากปัจจัยด้านอุปทานจากต่างประเทศ จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นมาก และมีผลต่อเนื่องทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ก๊าซหุงต้มและค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าจะเร่งตัวสูงสุดที่ 16.8% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา ที่ 1.6% มาก

ปัจจัยด้านอุปทานในประเทศจากโรคระบาดในสุกรและการส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไปยังราคาอาหารสำเร็จรูปนอกจากนี้ ราคาอาหารสดหมวดอื่น มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นบ้างตามต้นทุนราคาอาหารสัตว์และปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ที่ 3.4% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ 0.6% มากเช่นกัน

โดย กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการจ้างงานและรายได้ของภาคธุรกิจและประชาชนให้ขยายตัวได้อย่างเข้มแข็ง สามารถรองรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ ขณะที่ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากปัจจัยอุปทานในระยะสั้นที่ผันผวน ดังนั้นนโยบายการเงินที่ต้องใช้ระยะเวลาในการส่งผ่านอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป อาจจำเป็นต้องมองผ่านความผันผวนในระยะสั้น และให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการเงินที่มุ่งรักษาแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย

รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/MNDv7SsxhLA

คุณอาจสนใจ

Related News