เศรษฐกิจ

ม.หอการค้าไทย เผย ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มี.ค.นี้ ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน เชื่อ มิ.ย.ฟื้นตัว

โดย kanyapak_w

8 เม.ย. 2565

82 views

(8 เม.ย.) ผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2565 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค หรือ CCI ปรับตัวลดลงจากระดับ 43.3 เป็น 42 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นมา โดยผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ผู้บริโภคเริ่มมีความวิตกกังวลมากเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย และปัญหาค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น



ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยถดลงและระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต และมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 27.5 มาอยู่ที่ 26.2 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำมาก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 50.8 มาอยู่ที่ระดับ 49.4 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำมากเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย




สำหรับสงครามรัสเซียกับยูเครนกับยูเครนต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงไรและยาวนานเพียงใด ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 2.5-4% ในปีนี้




อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้ถึง 3.5% เพราะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิตเพื่อส่งออก และยังคงเห็นการค้าของไทยกับเศรษฐกิจในเอเชีย เห็นได้ชัดจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมล่าสุดที่ดีสุดในรอบ 25 เดือน หากหลังสงกรานต์ไม่มีการ ติดเชื้อรุนแรง การใช้จ่ายเงินสะพัดถึงหลักแสนล้านอย่างที่คาดการณ์ ไม่มีการล็อกดาวน์จนกระทบการผลิต รัฐบาลพิจารณาให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้นมาได้เรา 0.1% ถึง 0.2% เชื่อว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นเดือนมิถุนายน




โดยรัฐบาลควรมีมาตรการ ช่วยเสริมสภาพคล่อง ดูแลราคาพลังงาน ดูแลค่าบาทไม่ให้แข็งจนเกินไป และชะลอการบังคับใช้กฎหมายที่จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว ของธุรกิจอย่างการจัดเก็บภาษีที่ดิน และพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น ทั้งนี้หอการค้าไทยเสนอให้รัฐบาลเร่งประกาศให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น ไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินว่าหากเกินไปจากช่วงนี้จะชุดให้เศรษฐกิจภาพรวมทั้งปีหดตัวลงไป 0.5% สูญเสียรายได้ราว 70,000 ถึง 100,000 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันขั้นตอนต่างๆในการเข้าประเทศ ยังยุ่งยากและสร้างต้นทุนให้กับนักท่องเที่ยว

คุณอาจสนใจ

Related News