เศรษฐกิจ

มาม่ายอมตรึงราคา 3 รส แม้วัตถุดิบพุ่งต่อเนื่อง ด้านน้ำอัดลมราคาเดิม แต่ลดปริมาณ

โดย thichaphat_d

24 ม.ค. 2565

164 views

กรุงเทพธุรกิจ รายงานราคาสินค้า ที่พาเหรดขึ้นราคากันหลายรายการ อาทิ น้ำอัดลมที่ผู้ผลิตให้ส่วนลดแก่ร้านค้าน้อยลง ซึ่งทำให้ซัพพลายเออร์มีกำไรมากขึ้น ส่วนร้านค้าจะได้ส่วนต่างกำไรลดลง สะท้อนการมีต้นทุนขายต่อหน่วยเพิ่มขึ้น

จากการตรวจสอบ ร้านค้าให้ข้อมูลคือเป็นเป๊ปซี่ และบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันว่าบริษัทไม่มีการปรับเปลี่ยนราคาสินค้าแต่อย่างใด

ส่วนน้ำอัดลมแฟนต้า ปรับลดปริมาณสินค้าในบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วจาก 422 มิลลิลิตร(มล.) เหลือ 375 มล. แต่จำหน่ายราคาปลีกเดิมที่ 9 บาท ถือเป็นการดำเนินการของบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ในฐานะผู้ผลิตน้ำอัดลมให้กับโคคา-โคล่า ซึ่งบริษัท โคคา-โคล่า(ประเทศไทย) จำกัด จะหารือกับผู้ผลิตต่อไป

ขณะที่ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตผงซักฟอกเปา เอสเซ้นส์ ยาสีฟันซิสเท็มมา น้ำยาล้างจานไลปอนเอฟฯ ในเครือสหพัฒน์ เผยว่า วัตถุดิบหลักในผงซักฟอก เผชิญทั้งปัญหาด้านราคาพุ่ง โดยเฉพาะสารลดแรงตึงผิวหรือ Surfactant ประเภทต่างๆ สารขจัดคราบช่วยให้การซักผ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงมากในปีที่ผ่านมา หลังเกิดวิกฤติโรคโควิด-19ระบาด

ทั้งนี้ บริษัทไม่มีนโยบายจะปรับขึ้นราคาสินค้า รวมถึงลดปริมาณ หรือขนาดสินค้าด้วย กระบวนการผลิตและจำหน่ายยังคงเหมือนเดิม แต่บริษัทพยายามหาวิธีบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประหยัดการใช้จ่ายด้านต่างๆ เพื่อตรึงราคาสินค้าไม่ให้กระทบค่าครองชีพผู้บริโภค

ด้านบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนการผลิตสินค้ามีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีวัตถุดิบหลักอย่างแป้งสาลีราคาพุ่งจากประมาณ 300 บาทต่อถุงขนาด 22.5 กิโลกรัม(กก) มาอยู่ที่ 450 บาทต่อถุง และน้ำมันปาล์มจากราคา 19 บาทต่อกก. มาอยู่ที่ 53-57 บาทต่อกก. โดยวัตถุดิบ 2 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 70-80% ของการผลิตสินค้า

ทั้งนี้ แต่ละปีบริษัทมีการใช้วัตถุดิบจำนวนมาก เช่น น้ำมันปาล์มราว 35 ล้านกก. เมื่อต้นทุนต่อหน่วยปรับตัวสูงขึ้น จึงมีผลกระทบต่อบริษัท ซึ่งกรณีน้ำมันปาล์มที่ขยับขึ้น ในห่วงโซ่การผลิตถือว่าเกษตรกรได้รับประโยชน์ ขณะที่แนวโน้มต้นทุนอีกตัวที่จะเพิ่มขึ้นคือการเก็บภาษีเอดีฟิล์มบีโอพีพี เพราะทำให้ต้นทุนบรรจุภัณฑ์ปรับขึ้นตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ

ส่วนภาพรวมต้นทุนสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น บริษัทยืนยันจะตรึงราคามาม่าหลัก 3 รายการ ได้แก่ มาม่ารสหมูสับขนาด 60 กรัม มาม่ารสต้มยำกุ้งน้ำข้นขนาด 55 กรัม และมาม่าต้มยำกุ้งขนาด 55 กรัม ในราคา 6 บาท เช่นเดิม โดยราคาดังกล่าวไม่มีการปรับขึ้นตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งตราบใดที่สินค้าหลักจำหน่ายในราคาเดิมยังหาได้ในตลาด ไม่ควรมองเป็นการขึ้นราคา


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/zRzX5Jnj-fg

คุณอาจสนใจ

Related News