เศรษฐกิจ

'เฮียบุ๊ง' จี้รัฐต้องยอมรับ เชื้อ ASF แพร่ในไทย เปิดหน้าชน! ขุดซากหมูตาย ส่งตรวจซ้ำ

โดย thichaphat_d

11 ม.ค. 2565

361 views

จากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) ที่พบในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย แต่ทางภาครัฐออกมายืนยันว่าไทยยังคงปลอดโรค ASF


ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ภาครัฐไม่เคยปกปิดข้อมูล ย้ำที่ผ่านมาไทยควบคุมโรคระบาดในสัตว์ได้อย่างดี


วานนี้ (10 ม.ค. 65) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ฟาร์มหมูแห่งหนึ่งในอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นฟาร์มขนาดใหญ่เนื้อที่เกือบ 400 ไร่ เลี้ยงหมูกว่า 20,000 ตัว ตายไปประมาณ 2,000 ตัว ทั้งหมูขนาดเล็กใหญ่ ทุกขนาดอายุ ทุกขนาดกิโล และหมูแม่พันธุ์ รวมเสียหายกว่า 100 ล้านบาท


ส่วนหมูที่ยังไม่ตาย ต้องรีบขายในราคาถูก เพราะถ้าปล่อยไว้หมูอาจตายหมดขายไม่ได้ ส่วนหมูที่ตาย เริ่มทยอยตายเรื่อยมา ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.2564 จึงได้ขุดหลุมทำลายซาก ด้วยการฝังกลบยังที่เหมาะสมภายในฟาร์ม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ขณะนี้ฟาร์มดังกล่าว และโรงเรือนเลี้ยงหมูกลายเป็นฟาร์มร้าง


นายพัฒนพงศ์ การุณยศิริ หรือ เฮียบุ๊ง เจ้าของฟาร์มหมูรายใหญ่ของ จ.สิงห์บุรี เผยว่า ได้จ้างแล็บบริษัทเอกชนเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจ และแจ้งกับเจ้าของฟาร์มว่าผลเป็นบวก หมูที่ตายติดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) 100 เปอร์เซ็น แต่ไม่ออกเอกสารรับรองผลตรวจให้ว่าหมูตายด้วยโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (ASF) กลัวเอกสารหลุด ไม่อยากมีปัญหากับกรมปศุสัตว์ และกรมปศุสัตว์ก็ไม่ยอมรับผลตรวจดังกล่าว เพราะไม่อยากให้มีการตรวจพบเชื้อ ASF ตนก็ไม่รู้เป็นเพราะอะไร


เพื่อพิสูจน์ให้แน่ใจว่า หมูในฟาร์มแห่งนี้ตายด้วยโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (ASF) หรือไม่ แม้จะมีผลตรวจจากแล็บบริษัทเอกชนยืนยันแล้วก็ตาม ทั้งนี้ทางเจ้าของฟาร์มได้นำรถแบ็คโฮ มาขุดหลุมที่ฝังกลบซากหมู เก็บชิ้นส่วนเนื้อไขกระดูกหมูแม่พันธุ์ที่ป่วยตาย ส่งไปตรวจที่หน่วยชันสูตรโรคสัตว์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน


เจ้าหน้าที่ระบุว่าต้องเก็บอวัยวะภายใน เช่น ตับ ม้าม ปอด ลำไส้ ส่งตรวจ แต่เนื่องจากซากหมูที่ตายฝังกลบนาน 4 เดือน ทำให้อวัยวะดังกล่าวย่อยสลาย จึงต้องเก็บชิ้นส่วนเนื้อและไขกระดูก ส่งตรวจหาเชื้อโรค ASF แทน น่าจะทราบผลภายใน 2 วัน (เริ่มตรวจวันนี้ 11 ม.ค.) จะตรวจพบโรค ASF หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสารพันธุกรรมด้วย เนื่องจากซากหมูถูกฝังนานหลายเดือน


นายพัฒนพงศ์ เจ้าของฟาร์มหมูเล่าว่า หมูในฟาร์มเริ่มมีอาการป่วยตั้งแต่เดือน ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา สภาพมีไข้อุณหภูมิสูง 43 องศา จนเส้นเลือดฝอยแตก หนังและลำตัวแดง เริ่มทะยิยล้มตาย ตรวจเลือดพบว่าตายด้วยโรค ASF อย่างรุนแรง จึงรีบนำหมูที่ตายไปทำลายฝังกลบ แล้วก็ทยอยตายเพิ่มอีก ตนตัดสินใจนำหมูที่แสดงอาการใกล้ตาย และตายไปแล้ว ทิ้งทั้งหมด


สำหรับหมูที่ยังไม่ตายใช้เวลา 40 วัน ขนออกจากฟาร์มนำไปขายถูกๆ หมูอนุบาล ขายกิโลกรัมละ 7-8 บาท ,หมูขุน ขายกิโลกรัมละ 15-30 บาท, หมูแม่พันธุ์ ขายกิโลกรัมละ 5-13 บาท


ถ้าเก็บไว้ โรคคงแพร่ระบาดตายหมดทั้งฟาร์ม อาจสร้างความเสียหาย 50-70 เปอร์เซ็นต์ โอกาสที่จะคืนทุนยากมาก หนำซ้ำยังถูกกดราคาอีก “ขายไปตายไป” จากนี้ตนจะไม่กลับมาเลี้ยงหมูอีกแล้ว พร้อมเปิดหน้าชน


“โรค ASF ในสุกรเป็นแล้วไม่หายเพราะไม่มีวัคซีน เป็นแล้วก็เป็นอีก ทุกคนปิดข่าว วันที่ราคาเนื้อหมูแพง ทุกอย่างจึงเปิดเผย ถ้าหมูราคาถูก ไม่มีใครเปิดเผยหรอก เพราะผู้บริโภคไม่เดือดร้อน ตอนนี้ผู้บริโภคเดือดร้อนมาก และต้องเดือดร้อนไปอีกยาวนาน เพราะการบริหารผิดพลาดของกรมปศุสัตว์”


นายพัฒนพงศ์ ยังได้กล่าวถึง “ใบขนย้าย” เป็นตัวปัญหาที่ทำให้ฟาร์มหมูเจ๊ง เป็นใบอัปยศ ถ้าไม่มีใบขนย้ายจะไม่สามารถขายหมูได้ ไม่สามารถขนย้ายหมูไปขายปลายทางข้ามจังหวัดได้ หากปศุสัตว์จังหวัดนั้น ๆ ไม่อนุญาตหรือไม่ออกใบขนย้ายให้


ช่วงนี้มีการระบาดของโรค ASF ทำให้การขนย้ายหมูยากลำบาก บางฟาร์มไม่สามารถกระจายหมูที่ยังมีชีวิตส่งขายได้ หมูค้างอยู่ที่ฟาร์ม จนเกิดการแพร่ระบาดของโรค ASF ล้มตาย “เหมือนถูกบีบบังคับให้ตาย”


การที่รัฐไม่เปิดเผยข้อเท็จจริง ว่ามีการระบาดของโรค ASF ในสุกรในประเทศไทย ตนไม่รู้ว่าเอื้อประโยชน์ใครหรือไม่ ผู้มีเงินมีอำนาจเท่านั้นถึงจะทำได้ เกษตรกรธรรมดาทำไม่ได้ ฟาร์มทั่วไปกว่า 70 เปอร์เซ็นของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ล่มจมหมดสิ้นเนื้อประดาตัว เกษตรกรเขาอยู่ไม่ได้ การแพร่ระบาดของโรค ASF ครั้งนี้เสียหายมหาศาลเป็นเพราะการทำงานของหน่วยที่เกี่ยวข้องไม่มีประสิทธิภาพ แม้วันนี้จะสายไปต้องยอมรับความจริงว่า ทุกวันนี้ทำไมประชาชนบริโภคเนื้อหมูแพง


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/x1IBmrflxxg


คุณอาจสนใจ