เศรษฐกิจ

หมูแพงไม่ไหว! ปชช.หันซื้อเนื้อจระเข้-ปลา 'ปศุสัตว์' ชี้ต้องใช้เวลา 8-12 เดือน แก้ ASF

โดย panwilai_c

15 ม.ค. 2565

37 views

หลังเนื้อหมูขยับขึ้นราคาทุกวัน จนทะลุกิโลกรัมละ 200 บาท ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งหันไปบริโภคเนื้อจระเข้ และเนื้อปลา ซึ่งมีราคาถูกกว่า แถมยังมีโปรตีนสูงกว่า และไม่มีไขมัน



ที่จังหวัดนครราชสีมา ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจตลาดพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หันมาบริโภคเนื้อปลากันมากขึ้น ทำให้ตลาดขายปลาคึกคัก โดยเฉพาะปลานิล ราคากิโลกรัมละ 70-80 บาท นางบัวหลัน ทองประดิษฐ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังรายหนึ่งใน อ.พิมาย บอกว่า ราคาเนื้อหมูแพง ทำให้คนหันมาซื้อปลานิล ไปทำอาหารกันมากขึ้น เพราะราคาถูกกว่าเนื้อหมูหลายเท่าตัว คุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วงนี้ปลาในกระชังจึงขายดีมาก มีพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดพิมาย มารับซื้อปลาถึงที่วันละไม่ต่ำกว่า 200 กิโลกรัม จนปลานิลที่เลี้ยงไว้โตไม่ทัน ลูกพันธุ์ปลานิล ก็เริ่มขาดตลาด เนื่องจากมีผู้เลี้ยงปลากระชังสั่งซื้อจำนวนมาก



ส่วนเนื้อจระเข้ ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจำนวนมาก เนื่องจากราคาไม่สูง มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ไม่มีไขมันที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ให้พลังงานสูงแต่แคลอรีต่ำ จึงเป็นที่ต้องการของกลุ่มคนรักสุขภาพ



ซึ่งผู้จำหน่ายและส่งออกผลิตภัณฑ์จากจระเข้รายใหญ่ ในจังหวัดชลบุรี บอกว่า ยอดการผลิตเนื้อจระเข้ป้อนตลาดผู้บริโภคใน อ.ศรีราชา และใกล้เคียงอยู่ที่ 1,000 กิโลกรัมต่อวัน เริ่มไม่เพียงพอ หลังประชาชนหันมาบริโภคเนื้อจระเข้กันมากขึ้น และขณะนี้เริ่มมีผู้ค้ารายใหญ่ ติดต่อขอเป็นตัวแทนนำเนื้อจระเข้ ไปขายให้ห้างฯค้าปลีกและค้าส่งรายใหญ่แล้ว ยืนยันจะไม่ปรับราคาขึ้นอย่างแน่นอน โดยขายส่ง 30 กิโลกรัมขึ้นไป กิโลกรัมละ 85 บาท ขายปลีกกิโลกรัมละ 120 บาท



ด้านวัดท่าไม้ ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ได้ร่วมกับศิษยานุศิษย์ จัดกิจกรรม “มอบหมูเนื้อแดง 1 พันกิโลกรัม และผักปลอดสารพิษ 800 กิโลกรัม” ให้กับชาวบ้านในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่มาทำบุญที่วัด โดยจะแจกหมู ให้ครอบครัวละ 1 กิโลกรัม พร้อมผักปลอดสารพิษอีก 1 ถุง ซึ่งผู้ที่เข้ามาภายในวัดจะต้องผ่านการตรวจคัดกรองตามมาตรการสาธารณสุข รับบัตรคิว เว้นระยะห่าง ส่วนพรุ่งนี้จะแจกไก่สด 1,000 ตัว และผักปลอดสารพิษอีก 1,000 กิโลกรัม



นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ ผ่านระบบออนไลน์ เร่งแก้ปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ โรค ASF โดยสั่งการให้ทุกเขต และจังหวัด จัดตั้งวอร์รูม สื่อสารข้อมูลกับประชาชนทุกวัน จนกว่าสถานการณ์โรคจะคลี่คลาย พร้อมเร่งสำรวจการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ปริมาณสุกรที่คงเหลือในระบบ ปริมาณความต้องการบริโภคสุกรในประเทศ รวมทั้งการส่งออก เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์แก้ปัญหาทั้งระบบ หากพื้นที่ใดพบโรคระบาด ให้รายงานไปยังผู้ว่าฯ และส่วนกลางทันที เพื่อเร่งสอบสวน หาสาเหตุของโรค เพื่อควบคุมโรคได้ทันที

คุณอาจสนใจ

Related News