อาชญากรรม

รวบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปลอมเฟซบุ๊กธนาคารดัง หลอกปล่อยเงินกู้ พบผู้เสียหายกว่า 200 ราย

โดย paweena_c

30 ส.ค. 2565

211 views

ตำรวจรวบแก๊งคอลเซนเตอร์ทำเฟซบุ๊กธนาคารปลอม ยิงแอดโฆษณาหลอกจะปล่อยสินเชื่อเงินกู้ แต่ต้องเสียค่าเอกสาร ยอมรับรายได้ดีทำมา 2-3 เดือน รวมแล้วได้เงินประมาณ 3 แสนบาท


ตำรวจบุกเข้ารวบผู้ต้องหาที่บ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่ หมู่ 5 ตำบล ริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย หลังมีผู้เสียหายร้องเรียนว่า ถูกหลอกจากแก๊งคอลเซนเตอร์ปลอมเฟซบุ๊กเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารชื่อดัง แล้วหลอกให้กู้เงิน


แต่สุดท้ายเรียกเก็บค่าดำเนินการ พอโอนเงินให้ก็เงียบหายถูกบล็อกติดต่อไม่ได้ จนสืบทราบว่าอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จึงเข้าจับกุม พร้อมนำตัวผู้ต้องหาเป็นชาย 4 หญิง 2 มาสอบสวนที่ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตำรวจภูธรภาค 5


พฤติกรรมของกลุ่มมิจฉาชีพนี้ จะทำการเฟซบุ๊กธนาคารปลอมขึ้นมา 2 บัญชี ชื่อเฟซบุ๊ก สินเชื่อมณีทันใจ V.2" และ "จามจุรีช่วยเหลือ V.88"


จากนั้นก็ใช้วิธีการยิงแอดโฆษณา ระบุว่า มีสินเชื่อสำหรับให้ประชาชนสามารถกู้เงินได้ ในวงเงิน 2 หมื่นบาท โดยเปิดให้ทุกอาชีพ สามารถลงทะเบียนกู้เงินได้ อ้างว่าอนุมัติเร็ว ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ หรือ หลักประกันเรื่องของการทำงาน สามารถรับเงินได้ทันที


เมื่อมีผู้เสียหายหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อ ติดต่อมาทางกล่องข้อความของเฟซบุ๊กปลอม ก็จะหลอกว่า ต้องมีค่าดำเนินการ 300-500 บาทเกี่ยวกับเอกสาร เมื่อผู้เสียหายยอมโอนเงินให้ ก็จะถูกบล็อกทุกช่องทางการติดต่อ ทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถติดต่อเอาเงินคืนได้


แต่มีบางกรณีที่ กลุ่มมิจฉาชีพแชทคุยกับผู้เสียหายแล้ว ยังหลงเชื่อหรือสามารถหลอกต่อได้ ก็จะมีการเจรจาให้โอนเงินเพิ่มอีก โดยอ้างว่าจะมีการอนุมัติยอดเงินสินเชื่อที่สูงขึ้นไปอีก ซึ่งจากการสอบสวนผู้ต้องหา เบื้องต้นพบว่ามีผู้เสียหายทั่วประเทศที่ตกเป็นเหยื่อกว่า 200 ราย


หนึ่งกลุ่มผู้ต้องหารับสารภาพว่า ได้เรียนรู้วิธีการต่างๆ มาจากรุ่นพี่ที่รู้จักกันที่ช่วยสอนให้ทั้งการสร้างเพจและวิธีการหลอกลวงเหยื่อ โดยกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยทำงานที่ต้องการใช้เงิน


ส่วนช่องทางติดต่อผู้เสียหายนั้นก็หามาจากในเฟซบุ๊ก กลุ่มของตนนั้นเพิ่งทำมาได้ราวๆ 2-3 เดือน และหลอกลวงเหยื่อได้ประมาณ 2-3 แสนบาท


ขณะที่พลตำรวจตรีวีรชน บุญทวี รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 กล่าวว่า ขอให้ประชาชนระมัดระวัง การชักชวนกู้เงินในลักษณะนี้ เช่น ปล่อยกู้เงินด่วนให้วงเงินสูง ดอกเบี้ยน้อยกู้ง่ายได้เงินเร็ว ไม่ต้องค้ำประกัน เป็นต้น เพราะจะพยายามหลอกล่อ ให้โอนค่าดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก่อนจะได้รับวงเงินกู้


เมื่อผู้เสียหายโอนเงินให้ก็จะถูกบล็อกการติดต่อ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่แจ้งความ เพราะเป็นวงเงินหลักร้อยบาท จึงทำให้กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ยังก่อเหตุ ซึ่งตำรวจจะขยายผลจับกุมผู้ร่วมขบวนการต่อไป


รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/rkhfKILgNBI

คุณอาจสนใจ

Related News