อาชญากรรม

ทลายเครือข่ายคอลเซนเตอร์-บัญชีม้า สร้างมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท

โดย paranee_s

11 ต.ค. 2565

290 views

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) นำโดย พลตำรวจโทวรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. แถลงข่าวยุทธการ เด็ดปีกมังกร เข้าตรวจค้นจับกุมเครือข่ายบัญชีม้า แก๊งคอลเซนเตอร์ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ปลอมแปลงเว็บไซต์และข้อมูลหน่วยงานราชการ หลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อโอนเงินให้ มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 200 ล้านบาท


ปฏิบัติการในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ผู้เสียหาย ได้แจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ ว่าถูกคนร้ายอ้างว่าผู้เสียหายเป็นผู้กระทำความผิดอาญา และส่งหมายจับปลอมของหน่วยงานราชการมาให้ดู พอผู้เสียหายหลงเชื่อคนร้ายก็สั่งให้ผู้เสียหายโอนเงินกว่า 7 ล้านบาทไปยังบัญชีม้า โดยให้เหตุผลว่า ต้องโอนไปเพื่อให้ตรวจสอบเงินจำนวนดังกล่าวว่าได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่ง บก.สอท.4 ได้รับคำร้องทุกข์ไว้ และเร่งสืบสวนสอบสวนเพื่อติดตามผู้กระทำผิดในคดีนี้


จนเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 เจ้าหน้าที่ได้นำกำลังชุดปฏิบัติการพร้อมหมายค้นของศาลอาญาเข้าตรวจค้นสถานที่ในกรุงเทพมหานคร 2 จุด ที่ขบวนการแก๊ง Call Center นี้ใช้กระทำความผิด ซึ่งสามารถจับกุมผู้ต้องหาระดับหัวหน้าแก๊ง 3 ราย เป็นบุคคลสัญชาติจีน-ไต้หวัน 2 ราย และบุคคลสัญชาติจีนอีก 1 ราย โดยผู้ต้องหาทำหน้าที่เป็นผู้ถือบัญชีม้าในการทำธุรกรรม และจากการตรวจค้นยังพบของกลางรวม 61 รายการ ประกอบไปด้วย โทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ด,  เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก สมุดบัญชีธนาคารพร้อมบัตรเอทีเอ็ม, หนังสือเดินทาง, และของกลางอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดี คอลเซนเตอร์


โดยจากการสอบสวนผู้ต้องหา ให้การว่า ได้ใช้แอปพลิเคชันของธนาคาร ลงทะเบียนผูกกับบัญชีธนาคารของบุคคลอื่น หรือบัญชีม้า ติดตั้งอยู่ภายในโทรศัพท์มือถือรวมทั้งสิ้น 13 บัญชี เพื่อเอาไว้ใช้หลอกลวงประชาชนให้โอนเงินมาที่บัญชีดังกล่าว


จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ยังพบว่าบัญชีเหล่านี้ ยังไปเชื่อมโยงกับคดีคอลเซนเตอร์อีกหลายคดี ส่วนในคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของผู้ต้องหา ก็ยังพบข้อมูลที่เอาไว้ใช้หลอกลวงผู้เสียหาย โดยมีข้อมูลของ หมายเรียก, หมายจับ, หมายคดีฟอกเงินของ ปปง. และหมายจับของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ถูกปลอมแปลงขึ้นมาจำนวนมาก ทั้งยังตรวจพบเว็บไซต์ของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่กลุ่มผู้ต้องหาได้ปลอมแปลงขึ้นมาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือด้วย


โดยหลังจากเข้าตรวจค้นและจับกุมตัวผู้ต้องหาพร้อมยึดของกลางมาดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ก็ได้ทำการสืบสวนขยายผลต่อ จนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.สอท.4 จึงได้เปิดยุทธการ เด็ดปีกมังกร เข้าจับกุมผู้ต้องหาในเครือข่าย คอลเซนเตอร์ดังกล่าว ตามหมายจับจำนวน 16 ราย แบ่งผู้ต้องหาเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มรับจ้างเปิดบัญชีม้า, กลุ่มรวบรวมบัญชีม้าส่งต่อให้กับนายทุนชาวจีน, กลุ่มที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลผู้เสียหายเพื่อนำมาใช้ในการหลอกลวง


ซึ่งสามารถจับกุมตัวได้ทั้งหมด 13 ราย และยังหลบหนีอีก 3 ราย โดยเครือข่ายนี้มีการหลอกลวงผู้เสียหายมาแล้วหลายราย มีมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 200 ล้านบาท


ด้าน พลตำรวจตรีฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผบก.สอท.4 กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการของเครือข่ายนี้ที่ใช้ในการหลอกลวง ก็เหมือนกันกับวิธีการของแก๊งคอลเซนเตอร์ทั่วไป คืออ้างเป็นบุคคลต่างๆ และใช้วิธีการข่มขู่ทำให้เหยื่อตกใจกลัวจนหลงเชื่อ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อแล้วก็จะบังคับให้ทำธุรกรรมออนไลน์


ส่วนข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อที่คนร้ายนำมาใช้ปลอมแปลงหมายจับนั้น อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนว่าได้มาอย่างไร เชื่อว่าต้องมีผู้ลักลอบนำข้อมูลไปเปิดเผย เบื้องต้นพบว่าเป็นการใช้รูปภาพจากหน้าบัตรประชาชน ไปใส่ในหมายจับ


อย่างไรก็ตาม ฝากเตือนถึงประชาชนว่า หากมีโทรศัพท์เข้ามาอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ สิ่งแรกให้ขอชื่อและเบอร์โทรศัพท์ก่อน และลองติดต่อกลับไปยังเบอร์ที่โทรมา หากโทรกลับแล้วโทรไม่ติดก็น่าเชื่อได้ว่าเป็นเบอร์ที่ใช้หลอกลวง

คุณอาจสนใจ

Related News