กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงติดตามโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร จ.กาญจนบุรี

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงติดตามโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร จ.กาญจนบุรี

โดย kodchaporn_j

22 ก.พ. 2565

91 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงาน โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นวันที่ 2



วันนี้ เวลา 9.09 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ซึ่งกองบินตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดถวาย ไปยังศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค บ้านปางสนุก ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี



ทรงติดตามการดำเนินงาน โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานฉบับที่ 5 ศูนย์การเรียนแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 อยู่ในความรับผิดชอบ ของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 13 เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึงประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 มีนักเรียน 135 คน ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และกะหร่าง ได้รับสัญชาติไทยแล้ว 26 คน และมีครูใหญ่



ซึ่งเป็นครูในโครงการคุรุทายาท รุ่นที่ 4 สำหรับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (O-NET) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2563 ต่ำกว่าระดับประเทศ แก้ปัญหาด้วยการสอนพิเศษ และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เข้ามาติวข้อสอบและสอนพิเศษให้ ในพื้นที่ไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงเปิดทำการสอนตามปกติ



ด้านวิชาชีพ มีการสอนจักสานไม้ไผ่ โดยปราชญ์ชาวบ้าน เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญา และเป็นอาชีพเสริม ขณะที่กิจกรรมห้องสมุด มีการส่งเสริมรักษ์การอ่านในกิจกรรม ฟังนิทานแสนสนุก โดยบรรณารักษ์น้อยเป็นผู้เล่านิทานในช่วงพักกลางวัน และยังมีห้องสมุดเคลื่อนที่ไปยังชุมชน เพื่อส่งเสริมการอ่านแก่นักเรียน และชุมชน อีกด้วย สำหรับโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีพื้นที่การเกษตร 9 ไร่ ทำการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ ด้านสหกรณ์นักเรียน มีสำนักงานสหกรณ์จังหวัดกาญจนบุรี และสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์กาญจนบุรี เป็นผู้ให้คำแนะนำและความรู้เรื่องสหกรณ์ ปัจจุบัน มีสมาชิกสหกรณ์ 84 ราย



โอกาสนี้ ทรงติดตามการดำเนินงานของสุขศาลาพระราชทาน ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2562 ทั้งด้านการรักษาพยาบาล , การปฐมพยาบาลเบื้องต้น , การทำคลอดฉุกเฉิน และส่งต่อผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้และสื่อสารสุขภาพ เพื่อให้นักเรียนและราษฎร ได้รับข้อมูลข่าวสารความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสม มีพื้นที่ให้บริการ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านปางสนุก บ้านพุหน่อง และบ้านพุจือ ตำบลไล่โว่ รวม 100 หลังคาเรือน ประชากร 510 คน สำหรับบ้านปางสนุกมีประชากร 218 คน บางส่วนได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยติดโควิด- 19 จำนวน 29 คน ได้รักษาหายหมดแล้ว



เวลา 11.27 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน โครงการตามพระราชดำริ ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสหธนาคารกรุงเทพ บ้านเวียคะดี้ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ ของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 13 มีนักเรียน 248 คน เปิดสอนระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6



โดยคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (O-NET) ปีการศึกษา 2563 นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นในทุกกลุ่มสาระ สำหรับการใช้น้ำของโรงเรียนและชุมชน ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานร่วมกับสำนักงาน กปร. ปรับปรุงและกระจายระบบประปาภูเขาเพิ่มเติมให้กับราษฎรอีก 50 ครัวเรือน ด้านการเรียนการสอน ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทางโรงเรียนได้จัดการเรียนแบบ on site ให้นักเรียนสลับกันมาเรียนที่โรงเรียน เพื่อลดความแออัด



โอกาสนี้ทอดพระเนตรกิจกรรมฝึกวิชาชีพนักเรียน โดยวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี เข้ามาสอนการทำไม้กวาดดอกหญ้า และผลิตภัณฑ์จากไผ่ตง ซึ่งมีมากในพื้นที่ เช่น ตุ๊กตาอเนกประสงค์ , กระถางต้นไม้ และที่ดริปกาแฟ ด้านการประกอบเลี้ยงอาหารกลางวัน มีเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี เข้ามาส่งเสริมการทำถั่วทอง ซึ่งแปรรูปจากถั่วเหลืองที่ปลูกในโรงเรียน การทำผักเหลียงปลารมควันสำเร็จรูป เพียงใส่น้ำร้อนก็สามารถรับประทานได้ และการทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น



ด้านโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน จากเดิมผลผลิตไม่เพียงพอต่อการประกอบเลี้ยงอาหารกลางวัน เนื่องจากโรงเรียนมีพื้นที่จำกัด จึงแก้ไขด้วยการขยายผลสู่ชุมชน โดยแจกเมล็ดพันธุ์ข้าว พันธุ์ กข.79 (เจ็ด-สิบ-เก้า) ให้ชุมชนนำไปปลูก แล้วนำผลผลิตมาให้กับทางโรงเรียน มีชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรม 7 ครัวเรือน ผลิตข้าวให้กับโรงเรียนได้ ครัวเรือนละ 150 กิโลกรัม



นอกจากนี้ยังแจกพันธุ์กบ พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ให้กับชุมชน 3 ครัวเรือน ๆ ละ 5 คู่ เมื่อกบโตเต็มวัย จะนำมาประกอบอาหารกลางวันให้นักเรียน โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการสีข้าว และการตำข้าวแบบเหยียบ และการฝัดข้าว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ข้าวสารที่ได้นำไปประกอบอาหารกลางวัน สำหรับนักเรียน และจำหน่ายในชุมชน



ทั้งนี้จากการดำเนินโครงการพบว่า เด็กนักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างสมดุล ด้วยกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ มีความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ โดยโรงเรียนได้รับคัดเลือก เป็นสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่ได้รับการนิเทศเสริมพลัง "ดี" ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัย จังหวัดกาญจนบุรี ปีการศึกษา 2562