ย้อนรอยคดีประวัติศาสตร์ "ค้ามนุษย์โรฮิงญา" จำเลย 103 คน ทหาร-ตำรวจ-นักการเมือง โทษคุกสูงสุด 94 ปี

สังคม

ย้อนรอยคดีประวัติศาสตร์ "ค้ามนุษย์โรฮิงญา" จำเลย 103 คน ทหาร-ตำรวจ-นักการเมือง โทษคุกสูงสุด 94 ปี

โดย pattraporn_a

20 ก.พ. 2565

142 views

ย้อนรอยคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา คดีประวัติศาสตร์ที่มีจำเลยมากถึง 103 คน ศาลอุทธรณ์พิพากษาโทษสูงสุด 94 ปี ทั้งทหาร ตำรวจ นักการเมืองท้องถิ่น และชาวโรฮิงญา


การออกมาเปิดเผยคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ที่เป็นเหตุให้ พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรจภูธรภาค 8 ที่ทำคดีนี้ต้องลี้ภัยไปประเทศออสเตรเลย ทำให้คดีค้ามนุษย์โรฮิงญา กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ซึ่ง ข่าว 3 มิติ ติดตามคดีนี้มากว่า 10 ปี จนกระทั่งมีการฟ้องจำเลย 103 คน ในคดีค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ จนนำมาซึ่งการพิพากษาจำคุกสูงสุด 98 ปี โดยผู้สื่อข่าว 3 มิติ 2 คน คือ คุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย และ คุณมนตรี อุดมพงษ์ ร่วมเป็นพยานฝ่ายโจทก์ ในการร่วมเปิดโปงพฤติการณ์ขบวนการค้ามนุษย์ครั้งประวัติศาสตร์ของไทย 


โดยสภาพเรือมนุษย์โรฮิงญา ที่พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตคณะพนักงานสอบสวนในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ระบุว่า ขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา จะนำเรือประมงดัดแปลงมาใช้ในการขนชาวโรฮิงญา จากรัฐยะไข่ ของเมียนมา และ บังคลาเทศ เดินทางด้วยเรือมายังชายฝั่งประเทศไทย เช่นจังหวัดระนอง ก่อนที่จะมาการนำขึ้นฝั่ง ส่งขึ้นรถยนต์ขนส่งมายังชายแดนไทย-มาเลเซีย ทั้งในพื้นที่จังหวัดสตูล และสงขลา จนเป็นที่มาของการพบหลุมฝังศพชาวโรฮิงญา เกือบร้อยศพ บนเทือกเขาแก้ว ตำบลปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา เมื่อปี 2558 พวกเขาต่างถูกนำพามาด้วยเรือในลักษณะแบบนี้



ชาวโรฮิงญาเริ่มอพยพจากรัฐยะไข่ ของเมียนมา โดยใช้เส้นทางเรือมายังประเทศไทย ที่ส่วนใหญ่ต้องการข้ามแดนไปประเทศมาเลเซีย ซึ่งเริ่มเข้ามามากตั้งแต่ปี 2554-2558 มีการจับกุมได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่แม้จะถูกผลักดันออกไป แต่ก็จะเดินทางกลับเข้ามาใหม่ เพราะไม่สามารถกลับไปที่เมียนมาได้ด้วยความไม่มีสิทธิพลเมืองจึงต้องแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้น นี่จึงกลายเป็นช่องว่างให้ขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ที่ร่วมมือกันทั้งชาวบังคลาเทศ เมียนมา ที่มีชาวโรฮิงญาด้วยกันเอง รวมมาถึงคนไทย และมาเลเซีย รวมมือกันหาเงินจากการนำพาคนโรฮิงญาหลบหนีเข้าเมืองจนกลายเป็นการค้ามนุษย์ และกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ช็อคคนทั้งโลก เมื่อพบหลุมฝังศพ และ ศพชาวโรฮิงญา พร้อมโรงนอน ที่ทำเป็นค่ายกักกันบริเวณชายแดนไทย


และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของคดีประวัติศาสตร์ ฟ้องร้องจำเลย 103 คน ในข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์ และเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2560 และศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 พิพากษาจำคุกสูงสุด 94 ปี คือ นายซอเนียง อานู หรืออันวา นายหน้าขบวนการค้ามนุษย์ ส่วนพลโทมนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ถูกตัดสิน จำคุก 82 ปี รวมถึง นักการเมืองท้องถิ่น เช่น นายบรรณจง ปองผล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ จำคุก 79 ปี นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ อดีตนายกอบจ. จ.สตูล จำคุก 75 ปี รวมจำเลยที่ถูกศาลตัดสินจำคุกรวม 60 คน โทษตั้งแต่ 38 ปี ถึง 94 ปี ถือเป็นการตัดสินโทษสูงสุด และเพิ่มขึ้นจากคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่พบ



พฤติการณ์เมื่อต้นเดือน ม.ค.2554 - 1 พ.ค.2558 จำเลยซึ่งร่วมขบวนการองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ได้หลอกลวงขู่บังคับชาวบังกลาเทศ และชาวโรฮิงญา รวม 80 คน จากประเทศบังคลาเทศและเมียนมา เข้ามายังประเทศไทย และส่งไปประเทศมาเลเชียโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ทั้งเป็นนายหน้าชักชวนผู้เสียหายว่าจะส่งไปทำงาน ซึ่งมีทั้งผู้เสียหายที่หลงเชื่อและที่ไม่สมัครใจ โดยจะมีการใช้กำลังหรืออาวุธปืนประทุษร้ายและข่มขู่ผู้เสียหายด้วย เมื่อรวบรวมผู้เสียหายได้ 200-500 คน ก็จะส่งขึ้นเรือลำใหญ่ที่จอดลอยลำ รออยู่ในทะเล ที่มีผู้ควบคุมซึ่งมีอาวุธปืนไว้คอยควบคุมไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนี


จากนั้นจะมีเรือเล็กรับผู้เสียหายขึ้นฝั่งไปพักในเขต จ.ระนอง จ.พังงา และมีการขายผู้เสียหายให้กับผู้อื่นคิดเป็นเงินไทยคนละ 60,000-70,000 บาท บางคนถูกกักขังในค่ายกักกัน หากต้องการออกไปต้องจ่ายค่าไถ่ เป็นเงิน 30,000-40,000 บาท ซึ่งยังมีจำเลยที่ร่วมกระทำผิดและหลบหนีอีกหลายคน รวมถึง พลตำรวจตรีปวีณ เชื่อว่า หากได้ทำการสืบสวนต่อ จะสาวถึงปลาตัวใหญ่ ที่อยู่เบื้องหลังได้


คดีค้ามนุษย์โรฮิงญา จึงกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ ที่กลุ่มผู้กระทำผิดมีทั้งทหาร ตำรวจ นักการเมืองท้องถิ่น และพลเรือน ทั้งชายหญิง ร่วมกันกระทำการค้ามนุษย์ ที่มีผู้เสียหาย 80 คน เป็นเด็กอายุ 15 ปี 7 คน อายุไม่เกิน 15 ปี 13 คน อายุเกิน 18 ปี 39 คน แต่ละคนต้องจ่ายเงินค่านายหน้า ตั้งแต่ 5 หมื่น ถึง 4 แสนบาท รวมมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท และเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดีได้

คุณอาจสนใจ

Related News