รัฐแจงดรามา เปลี่ยนชื่อกรุงเทพฯ ผู้เชี่ยวชาญเผยที่มา แนะควรใช้ Bangkok ต่อไป

สังคม

รัฐแจงดรามา เปลี่ยนชื่อกรุงเทพฯ ผู้เชี่ยวชาญเผยที่มา แนะควรใช้ Bangkok ต่อไป

โดย thichaphat_d

17 ก.พ. 2565

70 views

ประเด็นดรามา เรื่องการใช้ชื่อเมืองหลวง ระหว่าง Krung Thep Maha Nakhon และ Bangkok มีคนเข้ามาวิจารณ์ตลอดทั้งวัน ทั้งในสังคมและโลกออนไลน์


ด้าน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เพื่อชี้แจง ดังนี้ 

" "กรุงเทพ​มหานคร" ใช้ได้ทั้ง Krung Thep​ Maha​ Nakhon​ และ​ Bangkok

สำนักงานราชบัณฑิตยสภาโดยคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากลได้ปรับปรุงแก้ไขการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ให้ถูกต้องและชัดเจน โดยมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชาจากกระทรวงการต่างประเทศร่วมพิจารณาด้วย เพื่อให้ส่วนราชการนำการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครองและเมืองหลวงดังกล่าวไปใช้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน


ทั้งนี้ หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง แล้ว จะอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา ประกอบกับข้อสังเกตของกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนดำเนินการต่อไป"


ด้าน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงกรณีที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการ ตามที่ราชบัณฑิตยสภา ประกาศเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเมืองหลวงของประเทศไทย “กรุงเทพมหานคร” จาก Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok) ว่า ยังสามารถใช้ทับศัพทว่า Krung Thep Maha Nakhon หรือ Bangkok ตามความเหมาะสมของการใช้ ไม่มีนัยยะอะไรสำคัญ


ซึ่งชื่อเมืองหลวงของประเทศไทย คำว่า Bangkok ได้นำไปใช้ในการจัดงานภาพยนต์ งานประชาสัมพันธ์ในภาพลักษณ์ที่หลากหลาย แต่คำว่า Krung Thep Maha Nakhon ที่ใช้ทับศัพท์ จะหมายถึงความเป็นเมืองหลวง ที่มีครบในทุกมิติ ซึ่งในแง่มุมของศิลปะวัฒนธรรมการใช้คำว่ามหานคร หรือ แคปปิตอลซิตี้ เป็นการบ่งบอกได้ชัดเจนมากกว่าคำว่า Bangkok ซึ่งคล้ายกับในบางเมืองที่มีชื่อเรียกเดิม และชื่อเป็นราชการปัจจุบัน การมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็เป็นการรองรับให้สามารถเป็นทางเลือกในการใช้งานได้


นายอิทธิพล ยังระบุว่า ในมุมของกระทรวงวัฒนธรรมจะส่งเสริมการใช้คำทับศัพท์ว่า Krung Thep Maha Nakhon มากขึ้น เพราะคำว่า มหานคร จะหมายถึงเมืองหลวง ที่มีความเจริญครบทุกด้าน และมีความหมายในเชิงวัฒนธรรมอยู่ด้วย ที่ผ่านมาคำว่า Bangkok จะเป็นคำที่ชาวต่างประเทศในอดีตที่เรียกกันมา แต่ชื่อ Krung Thep Maha Nakhon เป็นชื่อที่รัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระราชทานเป็นชื่อที่มีความสวยงามไพเราะ ในมุมกระทรวงวัฒนธรรมจะนำไปรณรงค์ต่อยอดต่อไป


ส่วนที่มีความเห็นว่าการเปลี่ยนในครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงโดยสิ้นเชิงหรือไม่นั้น นายอิทธิพล กล่าวว่า ได้มีการสอบถามไปยังราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งยังสามารถใช้ได้คำเดิมคือ Bangkok และ Krung Thep Maha Nakhon อยู่ที่ความหมายในแต่ละโอกาสที่ใช้


ด้าน พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ให้สัมภาษณ์กรณีเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษ เมืองหลวง จาก Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon ตามราชบัณฑิตว่า ชื่อเป็นเพียงนามธรรม ในทางปฏิบัติ นักท่องเที่ยวต่างชาติก็รู้จักกรุงเทพฯหรือ Bangkok อยู่แล้ว ส่วนตัวคิดว่า ไม่ต้องทำอะไรมาก รอให้ครม.มีมติ ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการก่อน กทม.พร้อมปฏิบัติตาม


ด้าน นายฆนัท นาคถนอมทรัพย์ ผู้ผลิตสารคดีด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม กล่าวว่า แม้ราชบัณฑิต ที่เพิ่งประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงในภาษาอังกฤษ จะลงท้ายประกาศว่าใช้ Bangkok หรือ krung thep maha nakhon ก็ได้ ทั้ง 2 อย่าง แต่แน่นอนว่า การประกาศ “เพิ่ม” ชื่ออย่างเป็นทางการนี้จะส่งผลสำคัญในอนาคต เวลาเราต้องพิมพ์เอกสารต่างๆ ในชีวิตเป็นภาษาอังกฤษ จะต้องงุนงงสับสน กันไปอีกสักพักใหญ่ และหากเดาตามโครงสร้างราชการไทย มีแนวโน้มที่จะให้ใช้คำว่า krung thep maha nakhon แทน Bangkok


“Bangkok บางกอก, บางมะกอก เป็น ชื่อบ้านนามเมืองที่บ่งบอกถึงพื้นที่ด้วย เพราะบริเวณนี้มี ต้นมะกอกน้ำ ขึ้นอยู่ปริมาณมากในอดีต เป็นที่อยู่ที่อาศัยของผู้คนมาอย่างน้อยอย่างมีหลักฐานตั้งแต่ราว พ.ศ.2000 ชาววิลาศโปรตุเกสน่าจะเป็นผู้ให้กำเนิดคำนี้ ซึ่งเขาคงสอบถามเอาจากชาวบ้านร้านตลาดว่าเรียกแถวนี้ว่าอะไร ซึ่งแน่นอนว่า คำว่า บาง แปลว่าพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น บางจาก บางแวก บางบัวทอง ล้วนเป็นขนบของผู้คนในแถบนี้ที่จะเรียกพื้นที่ชุ่มน้ำว่าบาง แล้วต่อด้วยพืชพรรณ ต้นไม้ที่ขึ้นงอกอยู่ในบางนั้นจำนวนมาก


Bangkok, บางกอก, บางมะกอก จึงเป็นที่ที่ถอดเสียงจากภาษาเดิมที่ผู้คนในพื้นที่ใช้เรียกพื้นที่ของเขา เก่าก่อนจะสถาปนาพื้นที่แห่งนี้เป็น กรุงเทพมหานครฯ ซึ่งเป็นชื่อที่ ครอบคลุมพระราชอำนาจในพื้นที่หนึ่งๆ ตามคติความเชื่อแบบหนึ่งของชนชั้นนำไทยตอนสร้างเมือง เช่นเดียวกับ กรุงธนบุรีศรีมหาสมุท ซึ่งมีมาก่อน กรุงเทพมหานคร”


นายฆนัท ระบุต่อไปว่า เหตุใดจึงเปลี่ยนชื่อ, เพิ่มชื่อ จากเดิม Bangkok, บางกอก, บางมะกอก ที่หมายถึงพื้นที่ ที่รวมผู้คนหลากหลายตั้งแต่ชาวจีน ฝรั่ง มอญ เขมร เวียตนาม ไทย ศาสนา ผี พราหมณ์ คริสต์ ซิกซ์ ฮินดู เข้าไว้ด้วยกัน เป็นชื่อ “กรุงเทพมหานคร” ที่สื่อถึงวิธีคิดของชนชั้นนำและจักรวาลแบบพุทธไทยและฮินดูเท่านั้น


“Bangkok, บางกอก, บางมะกอกควรเป็นชื่อของพื้นที่แห่งนี้ต่อไป เพราะมันถึงพื้นที่อันเปิดกว้าง โอบรับหลายเชื้อชาติ หลากศาสนา ดังที่มันเป็นและจะเป็นมากยิ่งขึ้นต่อไปเมื่อเราสร้างระบอบประชาธิปไตยที่คิดถึงการอยู่ร่วมของคนหลากหลายกลุ่มมากขึ้น ขอให้หยุดการเอาวิธีคิดชนชั้นนำที่กีดกันผู้คนมาบังคับกะเกณฑ์ผู้อื่นที่เป็นคนเท่ากันในโลกสมัยใหม่จะดีกว่า”


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/VH2aqQvxIck

คุณอาจสนใจ

Related News