กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

โดย pattraporn_a

14 ก.พ. 2565

83 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงาน ของโรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 4 และทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครั้งที่ 1


วันนี้ เวลา 14.25 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ซึ่งกองบินตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดถวาย ไปทรงติดตามการดำเนินงาน ของโรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 4 อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีเขตบริการคือ บ้านหัวแม่คำ ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ลีซอ อาข่า และลาหู่ และมีนักเรียนชนเผ่าชาติพันธุ์ม้ง จากประเทศเพื่อนบ้าน 14 คน มาเรียนร่วม และพักค้างเป็นนักเรียนบ้านไกล ปัจจุบันมีนักเรียน 187 คน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ ไม่พบการแพร่ระบาด โรงเรียนจัดการสอนได้ตามปกติ ด้านโครงการเพิ่มผลผลิตอาหาร ของโรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดนในสังกัด กองกำกับการตำรวจตระเวนขายแดนที่ 32 มี 17 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี มีบางแห่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เช่น เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในที่ราชพัสดุ และใช้พื้นที่ว่างของหมู่บ้านให้เกิดประโยชน์ , ด้านทักษะการฟัง และพูดภาษาไทย พบว่ายังต้องปรับปรุง , ส่วนการตรวจสอบคุณภาพน้ำ พบว่าบางโรงเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ แนวทางแก้ไข คือ เติมคลอลีนลงในถังพักน้ำ และทําความสะอาดเครื่องกรองน้ำสม่ำเสมอ


ที่ห้องประถมศึกษาปีที่ 6 มีการสาธิตการสอนวิชาคณิตศาสตร์ "เรื่องการหาพื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยม" ด้วยการฝึกการคูณทศนิยม ขณะที่กิจกรรมฝึกอาชีพ มีการสอนทำขนมคุกกี้งาขี้ม่อน ซึ่งมีมากในหมู่บ้าน จึงนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งจำหน่ายผ่านสหกรณ์โรงเรียน สำหรับห้องสมุดมีหนังสือกว่า 3,000 เล่ม มีมุมสมเด็จย่า , มุมหนังสือพระราชทาน นอกจากนี้ยังมีตู้หนังสือ และแบบเรียนชั้นมัธยมศึกษาพระราชทาน ที่เปิดให้ศิษย์เก่า และนักเรียนในพระราชานุเคราะห์มาใช้บริการ ส่วนกิจกรรมส่งเสริมรักษ์การอ่าน มีการเล่านิทาน และสอนน้องบันทึกการอ่าน ด้านสุขภาพ ส่วนใหญ่พบอาการไข้หวัด ปวดท้อง มีบริการตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน ทั้งนี้ครูและนักเรียนได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทุกคน โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักเรียน เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ช่อดอกกุหลาบสีแดง เนื่องในเทศกาลวันวาเลนไทน์


ด้านการประกอบเลี้ยงอาหารกลางวัน มีผู้ปกครองช่วยประกอบอาหารวันละ 2 คน ส่วนกิจกรรมการถนอมอาหาร มีการทำผักกาดดอง (ลีซู) เป็นการถนอมอาหาร ของชาวไทยภูเขาเผ่าลีซู หรือ ลีซอ ส่วนโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน พบว่าผลผลิตยังไม่เพียงพอ เนื่องจากแปลงเกษตรมีพื้นที่ 3 ไร่ และเป็นพื้นที่ลาดชัน ซึ่งนักเรียนจะจัดเวรดูแลแปลงผัก ไม้ผล และเก็บผลผลิต ส่งจำหน่ายผ่านสหกรณ์โรงเรียน ส่วนการเลี้ยงสัตว์ ได้เลี้ยงปลานิลในบ่อดิน เลี้ยงสุกรเหมยซาน เลี้ยงไก่ไข่ โดยครูมีการบูรณาการการสอนวิชาต่าง ๆ ที่เข้ากับการทำเกษตร อาทิ วิชาวิทยาศาสตร์ สอนเรื่องสารอาหารของพืช เรื่องการสังเคราะห์แสงของพืช , วิชาคณิตศาสตร์ สอนเรื่องการชั่งน้ำหนักผลผลิต สำหรับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ใช้น้ำจากฝายน้ำแม่คำ ซึ่งทางกรมชลประทาน จัดสร้างระบบส่งน้ำ พร้อมถังพักน้ำ ปัจจุบันใช้การได้ดี


เวลา 19.22 น. เสด็จออก ณ อาคารอเนกประสงค์ พระตำหนักดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง ทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 โดยที่ประชุมได้พิจารณาผลประกอบการ และผลการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ประจำปี 2564 อาทิ โครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนไทย-เมียนมา , การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืน ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ , โครงการร้อยใจรักษ์ จังหวัดเชียงใหม่ , การแก้ปัญหายาเสพติด และการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ดอยตุง รวมถึงแนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิ ที่ริเริ่มขึ้นใหม่ ได้แก่ การจัดการคาร์บอนเครดิตในป่า เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน , การพัฒนาพืชมูลค่าสูง และการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจกับความยั่งยืน


ทั้งนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี 2515 เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตลอดการดำเนินงานกว่า 50 ปี ได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งในประเทศ และต่างประเทศรวม 16 แห่ง ครอบคลุมการแก้ปัญหาความยากจน , ปัญหายาเสพติด , การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนหาแนวทางให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน