เปิดภารกิจส่ง 'ข้าวกะเพรา' สู่ชั้นบรรยากาศ จุดเริ่มต้นสู่การต่อยอดเทคโนโลยีอวกาศ

เทคโนโลยี

เปิดภารกิจส่ง 'ข้าวกะเพรา' สู่ชั้นบรรยากาศ จุดเริ่มต้นสู่การต่อยอดเทคโนโลยีอวกาศ

โดย panwilai_c

13 ก.พ. 2565

82 views

นับเป็นอีกความก้าวหน้าของวงการวิทยาศาสตร์ไทย เมี่อสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ได้ทดลองส่งเมนูข้าวผัดกะเพรา ขึ้นไปกับบอลลูนบนชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ ที่เหนือความสูงราว 30 กิโลเมตรจากพื้นดิน ซึ่งได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ โดยนี่คือจุดเริ่มต้น ของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอวกาศสู่การต่อยอดในอนาคต



ทันทีที่การนับถอยหลังสิ้นสุดลง บอลลูนก็ได้ถูกส่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ไปพร้อมกับเมนูข้าวผัดกะเพรา จานร้อน เพื่อการวิจัยและทดลอง โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า



การทดลองนี้เป็นการทดสอบด้วยบอลลูน high altitude ขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักประมาณ 1,600 กรัม บรรจุก๊าซฮีเลียมเพื่อการลอยตัว ซึ่งนักวิจัยคาดหวังให้บอลลูนลูกนี้ลอยขึ้นไปที่ความสูงราว 30 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน คือชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์



ชั้นบรรยากาศนี้จะอยู่ตั้งแต่ระดับความสูงที่ 10-50 กิโลเมตรขึ้นไป และมีสภาวะคล้ายอวกาศ จุดนี้เองทำให้นักวิทยาศาสตร์มองว่าสามารถใช้ประโยชน์จากสภาวะอากาศนี้เพื่อการศึกษางานวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศได้



ขณะเดียวกันการทดลองต้องตอบคำถาม 2 ข้อ คือ อาหารมีสภาพเป็นอย่างไรเมื่ออยู่ในสวาวะใกล้เคียงอวกาศนี้ และ บอลลูนตกลงตามตำแหน่งที่คาดการณ์ไว้หรือไม่



รองผู้อำนวยการด้านสร้างเสริมพันธมิตรและเครือข่ายองค์ความรู้ จิสด้า ระบุว่า ก่อนหน้านี้ GISTDA เคยส่งงานวิจัยไทยไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS มาแล้ว และในครั้งนี้เป็นต้นแบบการใช้ประโยชน์จากห้วงอากาศที่มีความสูงเลยเพดานบินขึ้นไปแต่ไม่ถึงอวกาศ คือระหว่าง 30-100 กิโลเมตรจากพื้นโลก สู่การต่อยอดงานวิจัยระดับอวกาศอย่างแท้จริงในอนาคต



ล่าสุดผลการทดลองนี้ พบว่าบอลลูนลอยไปตกในรัศมีราว 30 กิโลเมตร และลอยขึ้นไปที่ระดับความสูง 36 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน ตามที่คาดการณ์ไว้ ส่วนอุณภูมิในกล่องอาหารอยู่ที่ -8 องศาเซลเซียส ก่อนที่จะระเบิดร่วงลงสู่พื้นโลก โดยพบว่าข้าวผัดกะเพราที่อยู่นอกจานนั้นหายไป แต่จานในกล่องยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์



อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้เคยมีการศึกษาแล้วในหลายประเทศ เช่น การทดลองส่งแฮมเบอร์เกอร์สู่อวกาศ ของยูทูบเบอร์ Killem นึ่จึงเป็นจุดเริ่มต้นง่ายๆ ของ space experiment platform ให้กับประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดไอเดียและนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างไม่หยุดยั้ง

คุณอาจสนใจ

Related News