กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ ใน อุทัยธานี-นครสวรรค์

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ ใน อุทัยธานี-นครสวรรค์

โดย panwilai_c

7 ก.พ. 2565

158 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดนครสวรรค์



วันนี้ เวลา 9 นาฬิกา 4 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ทรงเป็นประธานตัดหวายลูกนิมิตอุโบสถ และทรงเททองหล่อพระพุทธปฏิมา "พระคู่บ้านคู่เมือง"ปางมารวิชัย" สำหรับอุโบสถหลังนี้ ทางวัดและพุทธศาสนิกชน ร่วมกันจัดสร้างขึ้นทดแทนหลังเดิม ที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม โดยขออนุญาตใช้แบบพระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก จากมูลนิธิชัยพัฒนา ที่เน้นเรียบง่ายประหยัด และใช้ประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ ซึ่งได้รับพระราชทานพระราชานุมัติ ให้จัดสร้างเมื่อปี 2556 เป็นอุโบสถทรงไทยสองชั้น ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง ขนาดหน้าตัก 59 นิ้ว ชั้นล่างใช้เป็นศาลาอเนกประสงค์ ปัจจุบันวัดทัพหลวง มีพระสงฆ์จำพรรษา 5 รูป มีพระสมุห์คำมา อินทวีโร เป็นเจ้าอาวาส



จากนั้น ทรงเททองหล่อพระพุทธปฏิมา "พระคู่บ้านคู่เมือง"ปางมารวิชัย" ขนาดหน้าตัก 30 นิ้ว เนื่องจากคนในพื้นที่มีเชื้อสายลาว มาจากเวียงจันทน์ และได้นำพระพุทธรูปปางมารวิชัยมาด้วย 2 องค์ ต่อมาพระพุทธรูปองค์เล็กสูญหายไป คณะสงฆ์ และชาวบ้านทัพหลวง จึงร่วมกันจัดสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยขึ้น เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน



โอกาสนี้ ทอดพระเนตร พื้นที่บริเวณรอบวัดที่จัดเป็น " ศูนย์การเรียนรู้ เศรษฐกิจพอเพียง " และนิทรรศการโครงการพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทางวัดได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ โดยได้รับความร่วมมือจากคนในหมู่บ้าน และโรงเรียน จัดทำแปลงปลูกข้าว และพืชผักสวนครัว ผลผลิตที่ได้นำมาประกอบอาหารภายในวัด และแจกจ่ายให้คนในพื้นที่ ทำให้เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือกัน ที่เป็นกลไกสำคัญ ในการสร้างเข้มแข็งของชุมชน



เวลา 13 นาฬิกา 29 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกช่อฟ้าอุโบสถ วัดศรีอุทุมพร อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ที่บูรณะมาตั้งแต่ปี 2550 โดยอุโบสถหลังใหม่ ยกขึ้นเป็นแบบ 2 ชั้น ปัจจุบันก่อสร้างเกือบแล้วเสร็จ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559



ในการนี้ เสด็จเข้าอุโบสถ ทรงวางพวงมาลัย และทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชา พระพุทธศรีอุทุมพรปฏิมากรรัตนมุนี พระประธานอุโบสถ แล้วทอดพระเนตรประติมากรรมปูนปั้นฝาผนังอุโบสถ ที่ใช้กรรมวิธีโบราณ "ปั้นปูนตำ" และตกแต่งด้วยเครื่องเบญจรงค์ จัดแสดงเกี่ยวกับชีวประวัติของหลวงพ่อจ้อย (จนฺทสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาส นอกจากนี้ ยังจัดแสดงเกี่ยวกับพุทธทำนาย 16 ประการ ของพระพุทธเจ้า ที่มีต่อพระสุบินของพระเจ้าปเสนทิโกศล ที่ทรงทำนายว่าเหตุการณ์เหล่านั้น จะเกิดขึ้นในยุคสมัยที่ศาสนาได้เสื่อมลง



จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑป-หอไตร ทรงวางพวงมาลัย และทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธชินสีห์ พระประธานประจำมณฑป-หอไตร แล้วทรงวางพวงมาลัยสักการะสรีระสังขารหลวงพ่อจ้อย (จนฺทสุวณฺโณ) ทั้งนี้ วัดศรีอุทุมพร หรือ "วัดวังเดื่อ" เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ภาค 4 สร้างขึ้นเมื่อปี 2485 โดยพระครูจ้อย จันทะสุวัณโณ เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่เริ่มสร้าง และประกาศตั้งวัดเมื่อปี 2494 ชั้น 2 ของอุโบสถประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง และพระพุทธสุโขทัยสุขใจ, เจดีย์พุทธชยันตีศรีอุทุมพรอมรรัตนประชานุกูล นอกจากนี้ยังมี หอพระ หอกลอง หอระฆัง หอเทพ ที่สร้างจากไม้สักทองทั้งหลัง และ หอมีดเทพศาสตราวุธ ปัจจุบัน มีพระครูนิทัศน์ประชานุกูล (สมศักดิ์ ปญฺญาธโร) เป็นเจ้าอาวาสวัด มีพระสงฆ์จำพรรษา 17 รูป



ต่อมาเวลา 15 นาฬิกา 8 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 8 จังหวัดนครสวรรค์ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เลขที่ 57/12 ถนนโกสีย์ใต้ ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ ซึ่งศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี 2555



รวมทั้งเพื่อรองรับการขยายงานบริการโลหิตแบบครบวงจร ประกอบด้วยอาคาร 4 หลัง ได้แก่ อาคารสำนักงาน , อาคารหอพักสูง , อาคารซ่อมบำรุง และอาคารสำหรับกักกันขยะ ซึ่งอาคารดังกล่าวจะสามารถเพิ่มศักยภาพงานบริการโลหิต ทั้งในและนอกหน่วยรับบริจาคโลหิต การตรวจคัดกรองโลหิต การเตรียมส่วนประกอบโลหิต การควบคุมคุณภาพโลหิต และส่วนประกอบโลหิต



โดยภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 8 จัดตั้งขึ้น เมื่อปี 2548 เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการโลหิตในภูมิภาค และสนับสนุนการจัดหา ให้เพียงพอแก่ความต้องการของผู้ป่วย และมีคุณภาพปลอดภัย มีมาตรฐานเดียวกันกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ตลอดจนจ่ายโลหิต ทั้งในสถานการณ์ปกติ หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือเมื่อมีภัยพิบัติได้ทันท่วงที ให้บริการแก่โรงพยาบาลเครือข่ายภาค 8 และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก อุทัยธานี ชัยนาท และพิจิตร ครอบคลุมการให้บริการแก่ประชากรกว่า 4 ล้านคน

Related News