ทส.เร่งแผนฟื้นฟูเหตุน้ำมันรั่ว ฟ้องเรียกค่าเสียหายเอกชนก่อมลพิษ

สังคม

ทส.เร่งแผนฟื้นฟูเหตุน้ำมันรั่ว ฟ้องเรียกค่าเสียหายเอกชนก่อมลพิษ

โดย pattraporn_a

2 ก.พ. 2565

28 views

ความคืบหน้าเหตุน้ำมันรั่วกลางทะเลที่ระยอง ล่าสุด กองทัพเรือภาคที่ 1 ได้เปิดเผยภาพการสำรวจยืนยันว่าขณะนี้ไม่พบกลุ่มคราบน้ำมันเเล้ว ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม เร่งเเผนฟื้นฟู-ประเมินผลกระทบ เเละฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับเอกชนที่ก่อมลพิษ


นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงฯ ยังคงติดตามสถานการณ์และปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย กรมควบคุมมลพิษ ได้ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลบริเวณที่มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดคราบน้ำมันขึ้นชายฝั่ง และลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบการเคลื่อนกระจายตัวของคราบน้ำมันในพื้นที่ชายฝั่ง รวมทั้งประเมินสถานการณ์ เพื่อเตรียมการเฝ้าระวังและป้องกันเหตุคราบน้ำมันรั่วไหล


ส่วนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ติดตามสำรวจ-ตรวจสอบความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้สนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ ตรวจสอบเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดจากคราบน้ำมันต่อทรัพยากรธรรมชาติ


นายวราวุธ บอกว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ ก็คือการจัดทำแผนฟื้นฟู เบื้องต้น ทางกรมควบคุมมลพิษ ได้ประสานกับ สวทช. และบริษัทเอกชน เพื่อร่วมสนับสนุนการแก้ไขฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ส่วนการเร่งรัดฟ้องเรียกค่าเสียหาย กรมควบคุมมลพิษ ได้เข้ายื่นเอกสารแจ้งกล่าวโทษกับบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ไว้แล้ว ที่สถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด


และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ ได้สั่งการให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบ และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและสิ่งแวดล้อม จากนั้นจะนำวาระนี้ เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อทราบในการประชุมครั้งต่อไป


ภาพการสำรวจสภาพทางทะเลเเละชายฝั่งบริเวณหาดเเม่รำพึง เขาเเหลมหญ้า เเละเกาะเสม็ด โดยเจ้าหน้าที่กองทัพเรือภาคที่ 1 ซึ่งยืนยันว่าในภาพรวม ทั้งบริเวณชายหาด ผิวน้ำ เเละใต้ทะเล ไม่พบคราบน้ำมันเเล้ว


เช่นเดียวกับสาธารณสุขจังหวัดระยอง ยืนยันว่า หลังจากส่งเจ้าหน้าที่ออกสุ่มตรวจอาหารทะเลในตลาดสด ยังไม่พบสารปนเปื้อนจากคราบน้ำมันในอาหารทะเลที่วางจำหน่าย เเละจากนี้ก็จะสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่องเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค


พร้อมทั้งฝากเตือนไปยังผู้บริโภค หากพบสัตว์น้ำตายเเละคราบน้ำมันติด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อนำไปตรวจสอบหาสารปนเปื้อนทันที เเละอย่าเพิ่งนำไปบริโภค


ส่วนที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ยังคงมีผู้ได้รับผลกระทบทยอยเข้ามาแจ้งเรื่องอย่างต่อเนื่อง ยอดรวมขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 700 รายแล้ว คาดว่ายอดคงจะเพิ่มขึ้นอีก


ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ วันนี้มีการจัดเสวนาออนไลน์ โดยคณาจารย์ที่เคยศึกษาวิจัย ภายใต้หัวข้อ “เปิดมุมมองวิศวกรรมเพื่อการจัดการน้ำมันรั่วในทะเล” โดยหยิบยกกรณีน้ำมันรั่วจากทั่วโลก รวมทั้งกรณีที่เกิดขึ้นบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ดในปี 2556 ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบรุนเเรง


ในการเสวนาได้เปิดเผยสถิติ อ้างอิงข้อมูลจากกรมเจ้าท่า พบว่า ตั้งเเต่ปี 2540 มาจนถึงปัจจุบัน มีเหตุน้ำมันรั่วเกิดขึ้นในน้ำเเละในทะเลมากถึง 182 ครั้ง โดยครั้งที่รุนเเรงเกิดขึ้นที่อ่าวพร้าว เเละจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ภาควิชาการได้ร่วมกันถอดบทเรียนเเละพัฒนาเครื่องมือ รวมทั้งจัดทำโมเดลเพื่อกำหนดเเผนป้องกันเเละการเผชิญเหตุ กรณีเกิดน้ำมันรั่วในอนาคต


เเผนเเละโมเดลนี้เหล่านี้ ก็ได้เอามาใช้ในปีนี้ ซึ่งทันทีที่ได้รับเเจ้ง ทุกหน่วยงานได้เข้าไปดำเนินการเเก้ไขทันที ตั้งเเต่การอุดรอยรั่ว การควบคุมการเคลื่อนที่โดยใช้ทุ่นยางหรือบีชบูม ที่ออกเเบบมาเพื่อดักคราบน้ำมัน รวมทั้งการใช้สารที่มีคุณสมบัติที่ทำให้น้ำมันเเตกตัวเเละย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ในปริมาณที่เหมาะสม เเละเกิดกระทบกับระบบนิเวศให้น้อยที่สุด เเละสุดท้ายคือการนำเอาเทคโลโลยีเจ้ามาใช้สำหรับฟื้นฟูสภาพชายหาด ซึ่งนักวิชาการ เห็นว่า การพัฒนานวัตกรรม ร่วมกับการพัฒนาการสื่อสารภัยพิบัติ จะช่วยลดผลกระทบ เเละทำให้การฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น


เหตุการณ์นี้จึงเป็นโอกาสอีกครั้งที่นักวิจัยสถาบันการศึกษาต่างๆ จะได้นำมาถอดบทเรียนเเละพัฒนา-เตรียมความพร้อม หากเกิดเหตุน้ำมันรั่วในทะเล

คุณอาจสนใจ