ไทยพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย "BA.2" 14 คน เสียชีวิต 1 ราย เป็นหญิงไทยวัย 85

สังคม

ไทยพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย "BA.2" 14 คน เสียชีวิต 1 ราย เป็นหญิงไทยวัย 85

โดย pattraporn_a

26 ม.ค. 2565

81 views

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศวันนี้ (26 ม.ค.) ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 7,587 คน เสียชีวิตเพิ่ม 19 คน ขณะที่กรมวิทยศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่าขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 แล้ว 14 คน เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 5 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคน


นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการตรวจพบสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 มีผู้ติดเชื้อแล้ว 14 คน เป็นกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ 9 คน และเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 5 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตหนึ่งรายเป็นหญิงไทย อายุ 85 ปี ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงคือเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ


ทั้งนี้จากข้อมูลที่มีการกระจายของเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ยังไม่พบความแตกต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.1 เดิม ในประเด็น ความสามารถในการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว อาการรุนแรง หรือสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ แต่ยืนยันได้ว่าในการคัดกรองยังสามารถตรวจเบื้องต้นโดยใช้ชุดตรวจเอทีเค ตรวจคัดกรองได้


อย่างไรก็ตามสำหรับการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด ที่ทางกรมวิทย์ศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยในประเทศ ได้แก่ BA.1 และ BA.2 โดยสายพันธุ์ย่อย BA.2 มีการตรวจพบรายแรกตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2565 และได้รายงานในระบบฐานข้อมูล GSAID ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม แล้ว


ขณะที่ ศบค.รายงาน วันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 7,587 คน เสียชีวิตเพิ่ม 19 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 13 คน โดยจังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุดคือกรุงเทพมหานคร 1,683 คน


ส่วนวัคซีนในเด็ก ทางนายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมาวัคซีนสำหรับเด็ก 5-11 ปีมีการส่งมอบ จำนวน 3 แสนโดส ให้กรมควบคุมโรค


สำหรับแผนการฉีดแบ่งเป็นกลุ่มเด็กที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำโรคเบาหวานกลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรงเด็กที่มีพัฒนาการช้า ให้เข้ารับการประเมินจากแพทย์ที่ดูแลเป็นผู้พิจารณาในการเข้ารับการฉีดวัคซีนที่สถานพยาบาลโดยกำหนดให้รับวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 8 สัปดาห์


กลุ่มที่สองคือกลุ่มนักเรียนในระบบสถานศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 และก่อนประถมศึกษา โดยความสมัครใจ และหลังการรับวัคซีน ต้องเฝ้าสังเกตุอาการ 30 นาที


ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ โล่เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการเสียชีวิตของเด็กด้วยโรคโควิด-19 ทั่วโลกมีจำนวนไม่มาก โดยส่วนใหญ่เด็กที่ฉีดวัคซีนแล้วจะมีอาการมิสซีหรืออาการอักเสบทั่วร่างกาย น้อยกว่ากลุ่มเด็กที่ไม่รับวัคซีน


นอกจากนี้ วัคซีนสำหรับเด็กมีการแยกประเภทเฉพาะ ปริมาณการฉีดจะน้อยกว่าของผู้ใหญ่ 3 เท่า มีการฉีดแล้วในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งพบว่ามีความปลอดภัย สำหรับผลข้างเคียงที่พบในเด็กที่รับวัคซีนไฟเซอร์ มักพบอาการอักเสบที่กล้ามเนื้อหัวใจ โดยที่สหรัฐอเมริกาพบประมาณ 11 คน และสามารถหายเองได้


สำหรับวัคซีนซิโนแวค และชิโนฟาร์ม อย. ยังไม่รับรองซึ่งยังต้องคอยข้อมูล ประกอบว่าจะสามารถนำมาฉีดให้เด็กโดยมีความปลอดภัยได้หรือไม่ พร้อมย้ำว่าการรับวัคซีนดีกว่าการไม่ได้รับ

คุณอาจสนใจ

Related News