'หมอประสิทธิ์' ชี้โอมิครอนในไทย มีโอกาสเข้าสู่ช่วงปลายของการระบาด

สังคม

'หมอประสิทธิ์' ชี้โอมิครอนในไทย มีโอกาสเข้าสู่ช่วงปลายของการระบาด

โดย thichaphat_d

26 ม.ค. 2565

108 views

เมื่อวานนี้ (25 ม.ค. 65) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลังการประกาศของ WHO ถึงการพบการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน เป็นระยะเวลา 2 เดือนเต็ม


ขณะนี้ได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ทำให้เกิดการระบาดในหลายประเทศทั่วโลก หากพิจารณาจากกราฟ พบส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น มีการพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่กลุ่มอาการไม่หนักหรือรุนแรง จนถึงต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลมีน้อย ทั้งนี้แม้ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตจะยังใกล้เคียงไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก แต่หากเทียบกับสัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อแล้ว ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่ไม่มาก ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลในหลายๆ ประเทศ ปัจจัยสำคัญเป็นผลมาจากการได้รับวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากรแล้ว


ดังนั้น ข้อสรุปสำคัญเกี่ยวกับสายพันธุ์โอมิครอน จึงกล่าวได้ว่า เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า โดยไม่ได้สัมพันธ์กับปริมาณไวรัสในผู้ติดเชื้อ มีความสามารถหลบหลีกจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทั้งภูมิที่เกิดจากการหายจากการติดเชื้อ หรือจากการฉีดวัคซีน ถือเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งของการแพร่ระบาดได้เร็ว แต่อาการรุนแรงน้อยกว่า เทียบได้จากความจำเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล น้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าประมาณ 1 ใน 3 หรือ ครึ่งเดียวเท่านั้น


จากการศึกษาตัวอย่างเชื้อในสัตว์ทดลองยังพบด้วยว่า มักก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงปอดมากเหมือนสายพันธุ์เดลต้า เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญเช่นกัน ที่ทำให้อาการไม่รุนแรง ซึ่งอาการที่พบบ่อยในการติดเชื้อ คือ น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว จามบ่อยและเจ็บคอ ส่วนอาการไข้สูง ไม่ได้กลิ่นหรือไม่ได้รส พบไม่บ่อยนัก


นอกจากนี้ผลการศึกษาจาก Imperial College ในกรุงลอนดอน พบว่า การจะมีภูมิคุ้มกันที่ช่วยลดการติดเชื้อ หรือการติดเชื้อที่มีอาการมาก จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีน 3 เข็ม ประกอบด้วย 2 เข็มพื้นฐาน และฉีดกระตุ้นอีก 1 เข็ม ระยะห่างจากเข็มที่สองประมาณ 3 เดือน แต่ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อเสนอแนะว่าต้องฉีดทุก 3 - 6 เดือน และหากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิดไวรัลเวกเตอร์ หรือ mRNA จะช่วยป้องกันการติดเชื้อจากศูนย์ถึงร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 55-80


ส่วนอาการ Long COVID หรือกลุ่มอาการที่พบได้หลังการติดเชื้อยังไม่มีข้อมูลรายงานอย่างชัดเจน ขณะนี้อาจพบได้เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนๆ และมีมากกว่า 50 อาการ แต่วัคซีนยังคงมีส่วนช่วยลดการเกิดอาการเหล่านี้ได้ถึงเกือบร้อยละ 50 ดังนั้น การที่ประชากรโลกส่วนใหญ่ควรได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจสังคมที่ดีเท่านั้น จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อชัยชนะในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19


ที่สำคัญที่อยากเน้นย้ำ หลังมีแนวคิดต้องการติดเชื้อเพื่อให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกัน เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะอาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงหรือแม้กระทั่งเสียชีวิตได้ เนื่องจากสภาพร่างกายของคนเราแต่ละคนมีความแตกต่างกัน


สำหรับแนวโน้มของการระบาด ซึ่งการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ช่วงปลายของการระบาด ประกอบกับประชากรโลกมีระดับภูมิคุ้มกันที่มากขึ้น ถึงอย่างไร การใช้ชีวิตคงไม่อาจกลับมาเป็นปกติได้ เหมือนก่อนช่วงที่มีการแพร่ระบาด แต่เป็นวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง หรืออาจเผชิญกับโรคระบาดอื่นได้ โดยเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญทั้งในแง่ของการทำงาน และดูแลสุขภาพมากขึ้น


ท้ายที่สุดเน้นย้ำแม้จะเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ แต่การป้องกันตนเองลดความเสี่ยงจากการรับเชื้อและแพร่เชื้อ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น รวมไปถึงเรื่องของการได้รับวัคซีนที่เพียงพอ



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/23dcqENsIuk

คุณอาจสนใจ

Related News