เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทอดพระเนตรงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครพนม

พระราชสำนัก

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทอดพระเนตรงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครพนม

โดย panwilai_c

23 ม.ค. 2565

266 views

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทอดพระเนตรงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม



วันนี้ เวลา 12.23 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังวัดธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ในการนี้ ทอดพระเนตรการแสดงฟ้อนรำ ของนักเรียนและสตรีชาวนาหว้า จำนวน 101 คน ในเพลง "ออนซอนนครพนม" เป็น 1 ใน 4 เพลงที่ใช้บูชา พระธาตุประสิทธิ์ โบราณสถานเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองประจำจังหวัด พร้อมกันนี้ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ถวายสักการะพระธาตุประสิทธิ์ พระธาตุประจำวันพฤหัสบดี ถูกค้นพบโดยชนเผ่าญ้อ ในปี 2112 และมีการบูรณะอย่างต่อเนื่อง ต่อมาในปี 2515 ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และอรหันตธาตุ 7 องค์มาบรรจุไว้



จากนั้นเสด็จไปยังศาลาโรงธรรม ทอดพระเนตรนิทรรศการ ตามรอยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย ผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ (พระกฐินต้น) ที่วัดพระธาตุประสิทธิ์ และนิทรรศการความเป็นมาของ กลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรก ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ



ซึ่งทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหม บ้านนาหว้า ขึ้นเป็น "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" เมื่อปี 2520 และในปี 2541 มีรับสั่งให้ ตั้งชื่อว่า "กลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ"



ในการนี้ พระราชทานแบบลายผ้า "ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา" แก่นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำไปมอบเป็นของขวัญปีใหม่ ให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สำหรับนำผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น โดยทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก "ผ้าขิดลายสมเด็จ" ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้น ในการพัฒนาผ้าไทย ให้มีความร่วมสมัย ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเอง ลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น



เสร็จแล้วทรงพระดำเนินเข้าอุโบสถ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระประธาน ทรงศีล แล้วทรงประเคนเครื่องไทยธรรมแด่ พระมหาสมัคร วรปุณฺโณ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุประสิทธิ์ แล้วทรงพระดำเนินไปยังบริเวณตูบไทญ้อ โดยตลอดเส้นทาง มีกลุ่มสมาชิกทอผ้า และชาวอำเภอนาหว้า เฝ้ารับเสด็จ ซึ่งได้มีพระปฏิสันถารกับราษฎร



ในการนี้ทรงทดลองสาวเส้นไหมธรรมชาติ ของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสกลนคร ที่สาธิตการทำผ้าย้อมคราม พร้อมทั้งทอดพระเนตรผ้ามัดหมี่ลายโบราณ ของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ อาทิ ลายหมากแปบใหญ่ ลายแมงมุมเล็ก ลายดอกบัว โดยมีพระดำริให้กลุ่มสมาชิก สืบสาน รักษา และต่อยอดการทอผ้าลายลูกแก้วด้วย



พร้อมกันนี้ทอดพระเนตรนิทรรศการ กลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรม ที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับชาวอำเภอนาหว้า จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาส ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 และในโอกาส ครบรอบ 50 ปีโครงการศิลปาชีพ เพื่อสร้างการรับรู้ประวัติศาสตร์ สู่คนรุ่นหลัง และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป ปัจจุบันได้มีการสืบทอดภูมิปัญญาสู่ลูกหลาน



โดยใช้อาคารศูนย์หัตถกรรม และจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน วัดธาตุประสิทธิ์ และกลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ ณ วัดศรีโพธิ์ชัย เป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการทอผ้า และบรรจุไว้ในหลักสูตร ภูมิปัญญาท้องถิ่นของโรงเรียนบ้านนาหว้า โรงเรียนนาหว้าพิทยาคม และโรงเรียนราษฎร์สามัคคี มีสมาชิกกลุ่มในพื้นที่ ทั้งศูนย์หัตถกรรม และจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน วัดธาตุประสิทธิ์ และกลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ รวม 180 คน



จากนั้นเวลา 15.19 น. เสด็จไปยังหอประชุมโรงเรียนนาหว้าพิทยาคม ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ผ้า และงานหัตถกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 11 จังหวัด ตามโครงการยกระดับ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นกิจกรรม เพื่อยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทย และสร้างการเชื่อมโยงร่วมกัน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเพื่อประชาสัมพันธ์ ผลงานอัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรม ภูมิปัญญาไทย ของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) โดยทรงแนะนำให้มีการปรับขนาดหน้าผ้าให้กว้างขึ้น เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย



โอกาสนี้ ได้พระราชทานคำแนะนำแก่กลุ่มศิลปาชีพ กลุ่มเยาวชน OTOP และกลุ่มอนุรักษ์ผ้าโบราณ กลุ่ม OTOP พรีเมี่ยม จาก 11 จังหวัด รวม 50 กลุ่ม และมีกลุ่มถวายรายงานส่งการบ้านผลิตภัณฑ์ ที่พัฒนาตามพระวินิจฉัย จำนวน 15 กลุ่ม โดยทรงแนะนำรายละเอียดผลงาน พร้อมพระราชทานคำแนะนำทุกชิ้นงาน และทรงติดตามความคืบหน้าของผลิตภัณฑ์ ที่พัฒนาตามพระวินิจฉัย ด้วยความสนพระทัย



ทั้งนี้จังหวัดนครพนม ได้ดำเนินงานสืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ มีการต่อยอดภูมิปัญญา รักษาอัตลักษณ์ของพื้นถิ่น เป็นอาชีพหลักของครอบครัว ในปี 2564 ได้ดำเนินกิจกรรม "ผ้าไทยใส่ให้สนุก "ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งได้ส่งเสริม การใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยมีผู้ประกอบการ นำลายผ้าพระราชทาน "ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ไปเป็นต้นแบบ จำนวน 137 ราย มีรายได้จากการจำหน่ายผ้าลายพระราชทานกว่า 15,000,000 บาท นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เยาวชน มีส่วนร่วมในการออกแบบเสื้อผ้าไทยให้ทันสมัย ภายใต้กิจกรรม "คนรุ่นใหม่หัวใจคือชุมชน" เพื่อให้รู้จัก รัก และหวงแหนศิลปหัตถกรรมไทย