จับชีพจร​ "เสถียรภาพรัฐบาล" นักวิชาการคาดหากไม่ปรับ ครม. 'ประยุทธ์' ต้องยุบสภา

เลือกตั้งและการเมือง

จับชีพจร​ "เสถียรภาพรัฐบาล" นักวิชาการคาดหากไม่ปรับ ครม. 'ประยุทธ์' ต้องยุบสภา

โดย pattraporn_a

21 ม.ค. 2565

73 views

ความเคลื่อนไหวทางการเมือง จับตาไปที่การย้ายพรรคการเมืองของ 20 ส.ส.กลุ่มร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า และท่าทีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งนักวิชาการคาดการณ์ว่า หากไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล การยุบสภา จะมีขึ้นไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้ 


ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ มาทวงคำตอบเรียกร้องให้รัฐบาลนำปัญหาของกลุ่มพีมูฟ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 24 มกราคมนี้ ซึ่งเลื่อนมาเร็วขึ้น เพราะไม่สามารถไว้ใจรัฐบาลได้แล้ว หลังการย้ายพรรคของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ก่อนหน้านี้เป็นตัวแทนพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีมาทำข้อตกลงกับกลุ่มพีมูฟ ซึ่งกลายเป็นว่านายกรัฐมนตรีไม่รับทราบ สะท้อนให้เห็นความไม่จริงใจของรัฐบาล ซึ่งนักวิชาการก็มองว่า การชุมนุมทางการเมืองของภาคประชาชน จะเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล ที่กำลังเกิดปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐด้วย


แต่ปัจจัยทางการเมืองที่สำคัญ หลังพรรคพลังประชารัฐ มีมติขับ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า พร้อม 20 ส.ส.เพื่อให้ย้ายไปพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งประกาศว่าจะมีเซอร์ไพรส์ทางการเมือง และท่าทีของร้อยเอกธรรมนัส ที่ย้ำว่าต้องแยกทางกันเดินกับพรรคพลังประชารัฐ ทำให้จับตาว่า สถานะของพรรคการเมืองใหม่ของร้อยเอกธรรมนัสนั้น จะยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ แม้จะมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นสายสัมพันธ์หลัก


และเป็นที่มาของการจับสัญญาณทางการเมือง หาก 20 ส.ส.กลุ่มร้อยเอกธรรมนัส จะพลิกเกมเปลี่ยนขั้วทางการเมือง แม้เสียงของพรรคร่วมรัฐบาล จะยังมากกว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ก็เป็นเสี่ยงปริ่มน้ำ ที่หาก 20 เสียงจากกลุ่มพรรคเล็ก เทไปข้างร้อยเอกธรรมนัส อาจเป็นเงื่อนไขให้พลเอกประยุทธ์ ตัดสินใจยุบสภาได้


ไทม์ไลน์ทางการเมืองที่สำคัญนับจากนี้ จึงต้องรอดูการเปิดตัวพรรคใหม่ของร้อยเอกธรรมนัส ที่มีเวลาภายใน 30 วัน ก่อนวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่จะต้องมีสังกัดใหม่ และระหว่างนี้ นายกรัฐมนตรี จะตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี หรือไม่ เพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งนักวิชาการ ประเมินว่า อาจเป็นไปได้ที่จะปรับคณะรัฐมนตรี แต่หากไม่ปรับ พลเอกประยุทธ์ ยังต้องเผชิญกับคลื่นใต้น้ำ และรัฐบาลจะอยู่ในสภาพเป็ดง่อย เพราะมีความเสี่ยงที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะล่มได้ทุกเมื่อ


และหากกฏหมายสำคัญไม่ผ่านสภาฯ ก็ส่งผลต่อสถานะของรัฐบาล ดั้งนั้น ก่อนถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฏรสมัยการประชุมหน้าในเดือนพฤษภาคม พลเอกประยุทธ์ ต้องคุมการนำในรัฐบาลให้สำเร็จ เพราะไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงต่อการลงมติไม่ไว้วางใจ และทำให้คาดการณ์กันว่า อาจจะยุบสภาในช่วงเวลานั้น และก่อนที่ พลเอกประยุทธ์ จะครบวาระ 8 ของการเป็นนายกรัฐมนตรีช่วงปลายสิงหาคม นับจากวันนี้ รัฐบาลจึงมีเวลาไม่เกิน 4 เดือน


ส่วนการพิจารณากฏหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งบัตรสองใบ ผศ.ดร.ปริญญา เห็นว่า รัฐบาลสามารถทำได้โดยไม่ต้องห่วงเสียง ส.ส.ในสภา เพราะถ้าผ่านมติคณะรัฐมนตรีแล้วต้องเข้าพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถผลักดันได้ก่อนที่จะตัดสินใจยุบสภา เพื่อไม่ให้เกิดสูญญากาศทางการเมือง แต่ยังเห็นต่างกับ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตเลขาธิการ กกต. ที่เห็นว่า หากต้องยุบสภาก่อนที่กฏหมายลูกจะผ่าน คณะรัฐมนตีสามารถออกเป็นพระราชกำหนดได้


ในระหว่างนี้จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่จะปิดสมัยประชุมสภาฯ สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลแบบไม่ลงมติตามาตรา 152 ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติในวันนี้ คาดว่าจะมีขึ้นกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่จะกลายเป็นเวทีสั่นสะเทือนทางจิตใจให้กับรัฐบาล ที่อาจเป็นแรงกัดดันทางการเมืองได้


สำหรับท่าทีของพลเอกประยุทธ์ ในเวลานี้อาจถูกมองว่าเป็นรองร้อยเอกธรรมนัส แต่ยังมีอำนาจในการตัดสินใจยุบสภา ที่อาจเกิดได้ทุกเมื่อ แต่ล่าสุดได้สั่งสัญญาณสู้ ผ่านการเปิดเพลง อย่ายอมแพ้ กลางที่ประชุม ศบค.


โดยล่าสุดมีรายงานว่านายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี แบบครบองค์ประชุม ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลในวันจันทร์ ที่ 24 มกราคมนี้ หลังที่ผ่านมาประชุมแบบคอนเฟอร์เรนซ์ จึงคาดว่าจะมีการตัดสินใจที่สำคัญในที่ประชุมครม.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ข่าว 3 มิติรายงาน

คุณอาจสนใจ