ขายดี! คนหันไปกิน 'ปลานิล-เนื้อจระเข้' หลังหมูแพง คนขาย 'หนูนา' เผยลูกค้าคนละกลุ่ม

เศรษฐกิจ

ขายดี! คนหันไปกิน 'ปลานิล-เนื้อจระเข้' หลังหมูแพง คนขาย 'หนูนา' เผยลูกค้าคนละกลุ่ม

โดย passamon_a

16 ม.ค. 2565

38 views

โคราช คนหันไปกินปลานิล หลังเนื้อหมูแพง เกษตรกรขายดีจนปลากระชังที่เลี้ยงไว้โตไม่ทัน และลูกพันธุ์ปลาเริ่มขาดตลาด


วันที่ 15 ม.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตั้งแต่ราคาเนื้อหมูแพงสูงขึ้นทะลุราคากิโลกรัมละ 200 บาท ประชาชนจำนวนมากจึงหันไปบริโภคเนื้อปลาแทน เพราะราคาถูกกว่าเนื้อหมู โดยเฉพาะปลานิล ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 70-80 บาท ทำให้ตลาดขายปลาในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาคึกคักมากขึ้น


นางบัวหลัน ทองประดิษฐ์ อายุ 69 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังรายหนึ่งในอำเภอพิมาย บอกว่า มีอาชีพเลี้ยงปลากระชังขายมานานหลายปีแล้ว ซึ่งปลากระชังที่เลี้ยงไว้ส่วนใหญ่ จะเป็นปลานิล และปลาทับทิม หลังจากที่ราคาเนื้อหมูแพงสูงขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่ได้หันมาซื้อปลานิลไปประกอบอาหารกันมากขึ้น เพราะราคาถูกกว่าเนื้อหมูหลายเท่าตัว ทำให้ปลากระชังที่ตนเองเลี้ยงไว้ขายดีเป็นอย่างมาก มีพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดพิมายมารับซื้อปลานิล และปลาทับทิมถึงที่วันละมากกว่า 200 กิโลกรัม จนขณะนี้ปลานิลที่เลี้ยงไว้ในกระชังโตไม่ทัน อีกทั้งในช่วงนี้ลูกพันธุ์ปลานิลก็เริ่มจะขาดตลาดแล้ว เนื่องจากมีผู้เลี้ยงปลากระชังส่วนใหญ่ต่างสั่งซื้อลูกปลานิลไปเลี้ยงกันเป็นจำนวนมาก


ขณะที่ ชลบุรี ศรีราชาฟาร์ม เผยผู้ค้าหลายแห่งขอเป็นตัวแทนส่งเนื้อจระเข้ขายในห้างค้าปลีก ค้าส่งขนาดใหญ่ ยอดผลิต 1,000 กก.ต่อวันไม่พอขาย ยันไม่ขึ้นราคา


วันที่ 15 ม.ค.65 นายสุเมธ ปัญญาสาคร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีราชาฟาร์มจระเข้และผลิตภัณฑ์ จำกัด ผู้จำหน่ายและส่งออกผลิตภัณฑ์จากจระเข้และฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้ขนาดใหญ่ ของ จ.ชลบุรี เผยว่า ขณะนี้ยอดการผลิตเนื้อจระเข้เพื่อป้อนตลาดผู้บริโภคใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และใกล้เคียง ที่มีประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อวัน เริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการ หลังประชาชนหันมาบริโภคเนื้อจระเข้แทนเนื้อหมูและไก่มากขึ้น


พร้อมยืนยันว่าแม้เนื้อจระเข้จะเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงมาก ทั้งอุดมด้วยโปรตีนที่มีสูงกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ และยังไม่มีไขมันที่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่ให้พลังงานสูงและแคลอรี่ต่ำ จึงเป็นที่ต้องการของกลุ่มคนรักสุขภาพและเริ่มเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้ค้าเนื้อสัตว์ที่เริ่มมองหาเนื้ออื่นทดแทนเนื้อหมูและไก่ ซึ่งขณะนี้บริษัทเริ่มมีผู้ค้ารายใหญ่ติดต่อขอเป็นตัวแทนนำเนื้อจระเข้เข้าขายให้ห้างค้าปลีกและส่งรายใหญ่รายแห่งแล้ว


ศรีราชาฟาร์มฯ จะไม่ปรับขึ้นราคาขายเนื้อจระเข้อย่างแน่นอน และยืนยันว่าในวันนี้ยังคงขายส่งให้กับคู่ค้าที่ซื้อเนื้อจระเข้ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมขึ้นไป ในราคากิโลกรัมละ 85 บาท และราคาขายปลีกที่กิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งก่อนเกิดสถานการณ์เนื้อหมู-ไก่แพง เราผลิตเนื้อจระเข้เพื่อการส่งออกมากถึง 70% และส่งขายในประเทศเพียง 30% แต่ในช่วงนี้สัดส่วนการขายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 50% แล้วและหากความต้องการยังสูงอยู่ก็เชื่อว่าจะสามารถขยับขึ้นได้อีก 30% และจะทำให้บริษัทสามารถปรับลดสัดส่วนการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ให้เหลือเพียง 20% ได้


เราไม่กลัวเรื่องเนื้อจระเข้จะไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด หากราคาเนื้อหมูและไก่ยังแพงต่อเนื่อง เพราะเรามีเนื้อจระเข้ที่ผลิตและได้ทำการสต๊อกไว้เพื่อส่งออกเป็นจำนวนมาก และหากประชาชนหันมาบริโภคเนื้อจระเข้มากขึ้นจนทำให้สินค้าที่เราสต๊อกไว้ลดลงเกิน 50% เราก็พร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในทันที


ส่วนที่ สุพรรณบุรี พ่อค้าแม่ค้าขายหนูย่างริมถนน บอกราคาเนื้อหมูแพง ไม่มีผลยอดขาย หนูนาราคาแพงกว่า


จากสถานการณ์ราคาเนื้อหมูราคาแพง ไข่แพง นายสระ พร้อมพิมพ์ หรือลุงกบ อายุ 59 ปี พ่อขายหนูนา ริมถนนสาย 340 สุพรรณบุรี บางบัวทอง ขาเข้า กทม.ช่วงแยกบ้านโพธิ์คอย ต.ท่าระหัด อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ครอบครัวขายหนูย่าง มานานกว่า 30 ปีแล้ว ขายตั้งแต่ราคากิโลกรัมละไม่ถึง 100 บาท จนกระทั่งปัจจุบันหนูนากิโลกรัมละ 230-250 บาทมาปีเศษแล้ว ซึ่งราคาหนูนาแล้วแต่ขนาดตัวเล็ก ตัวใหญ่ หนูนาไซส์ใหญ่ขนาด 3 ตัว กิโลกรัม ก็จะอยู่กิโลกรัมละ 240-250 บาท ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ขายหนูนาไม่ค่อยดี พอมาช่วงนี้พอขายดีขึ้นมาบ้าง วันละประมาณ 10-20 กว่ากิโลกรัม


โดยทางครอบครัว แบ่งคนในบ้านไปตั้งจุดขายริมถนนสาย 340 สุพรรณบุรี บางบัวทอง ขาเข้า กทม.เป็นระยะ รวม 3 ร้านด้วยกัน ช่วงวันหยุดเทศกาลต่าง ๆ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ จะขายหนูนาได้ดีมาก บางวันขายได้วันละกว่า 100 กิโลกรัม เนื่องจากมีประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางสัญจรผ่านไปมาก็จะแวะซื้อหนูนา นำไปทำอาหารได้หลากหลายประเภท กินกันในครอบครัว ทำให้พอมีรายได้มาใช้จ่ายในครอบครัว


ช่วงนี้ราคาเนื้อหมูแพง ไม่ส่งผลกระทบกับยอดขายหนูนา เพราะว่าที่ผ่านมาราคาหนูนาสูงกว่าราคาเนื้อหมูอยู่แล้ว และที่สำคัญจะมีลูกค้าที่ชอบรับประทานหนูนา ก็จะเป็นลูกค้าประจำมาอุดหนุนตลอด และยังลูกค้าขาจรจอดรถมาซื้อบ้าง ส่วนราคาเนื้อหมูที่มีราคาแพงขึ้นนั้น ไม่ทำให้ยอดขายหนูนาสูงขึ้นไปกว่าเดิมหรือลดลงแต่อย่างใด จะมีบ้างก็ส่วนน้อยที่ราคาเนื้อหมูแพง บางรายหันมาซื้อหนูนาไปทำอาหารรับประทานแทนเนื้อหมูบ้าง


ด้าน นางเอื้อมพร บุญศรี อายุ 60 ปี แม่ค้าขายหนูย่าง หน้าประตูเวียงเฟอร์นิเจอร์ ริมถนนสาย 340 เล่าว่า ช่วงสถานการณ์โควิด ขายหนูนาไม่ค่อยดี เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่มีกำลังซื้อ มาช่วงนี้ภาครัฐปลดล็อก พอเริ่มขายหนูนาได้บ้าง พอมีรายได้มาใช้จ่ายในครอบครัว


ส่วนช่วงนี้ราคาเนื้อหมูแพง ไม่ส่งผลกระทบกับการขายหนูย่าง เนื่องจากเป็นลูกค้าที่ซื้อหนูนาและซื้อหมูเป็นคนละกลุ่มกัน คนที่ชอบรับประทานหนูนา ไปทำเป็นอาหารทั้ง ผัดเผ็ด ผัดกระเพรา ผัดพริก ย่างจิ้มน้ำจิ้ม หรือแกงคั่ว ผู้บริโภคจะไม่เกี่ยงราคา ทั้งที่หนูนาราคากิโลกรับละ 220-250 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดตัวเล็ก ตัวใหญ่ ราคาหนูนาแพงกว่าเนื้อหมูที่ผ่านมาเสียอีก แต่พอมาช่วงนี้เนื้อหมูเริ่มแพงขึ้น ผู้บริโภคบางรายก็บอกว่าเนื้อหมูแพง หันมาซื้อหนูนากินดีกว่า



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/FDQaaSrrbWI

คุณอาจสนใจ