ตรวจซากเชื้อโควิดจากน้ำเสีย ชี้เป้าผู้ติดเชื้อ ควบคุมการระบาดล่วงหน้า

สังคม

ตรวจซากเชื้อโควิดจากน้ำเสีย ชี้เป้าผู้ติดเชื้อ ควบคุมการระบาดล่วงหน้า

โดย pattraporn_a

28 พ.ย. 2564

56 views

ทีมนักวิจัย นำโดยนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยนเรศวร นำนวัตกรรมการตรวจซากเชื้อโควิด-19 หรือ sars-Cov2 จากน้ำเสียโสโครกในแหล่งชุมชนหรือสถานที่สาธารณะมาใช้ เพื่อชี้เป้าว่ามีผู้ติดเชื้อจากแหล่งที่ปล่อยน้ำเสียดังกล่าว ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญควบคุมการระบาดล่วงหน้าได้ และมาตรการดังกล่าว ยังเหมาะที่จะเร่งนำมาใช้เพื่อเฝ้าระวังการแพร่เชื้อสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ที่ทั่วโลกกำลังวิตกกังวลด้วย



แหล่งน้ำทิ้งน้ำโสโครก ที่ชุมชนหลังโรงเรียนจีน เขตเทศบาลนครยะลา เป็น 1 ใน 24 จุด ที่นักวิจัยเก็บตัวอย่างน้ำโสโครก ไปตรวจวิเคราะห์ในห้องแล็บ เพื่อหาซากของเชื้อโควิด หรือ ที่เรียกว่าซาร์ โควี ทู ซึ่งเป็นซากของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ถูกขับถ่ายจากผู้ติดเชื้อ และแม้ว่าเป็นผู้ติดเชื้อระยะแรก ไม่มีอาการ แต่ร่างกายจะขับถ่ายซากเชื้อออกมาจากอุจจาระได้



ซากเชื้อเหล่านี้ ไม่อาจแพร่เชื้อโควิดได้อีก แต่ปริมาณซากเชื้อในแหล่งน้ำเสีย น้ำโสโครก น้ำทิ้งจากครัวเรือน หรือชุมชน จะบอกบ่งชีได้ว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ในชุมชน หรือแหล่งปล่อยน้ำทิ้ง และบอกได้อย่างละเอียดถึงความหนาแน่นของผู้ติดเชื้อในชุมชนนั้นๆ


โดยโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม



ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ หัวหน้าทีมนักวิจัย ระบุว่าวิธีนี้แม้ไม่อาจบ่งชี้ผู้ติดเชื้อเป็นรายบุคคล แต่จะบอกได้ถึงการมีผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก่อน ที่สำคัญคือรู้ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการระบาดใหญ่ ส่งผลดีต่อการกำหนดมาตรการควบคุมป้องกัน


การเก็บตัวอย่างน้ำเสียในเทศบาลนครยะลา กระจายเป็น 34 จุดทั้งในและนอกเขตเทศบาล รวมถึงโรงพยาบาลสนาม ตลาด และย่านสาธารณะ แล้วนำตัวอย่างไปวิเคราะห์ที่ห้องปฎิบัติการ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยคาดว่าจะได้ผลตรวจวิเคราะห์วันอังคารที่จะถึงนี้ จากนั้นจะนำผลวิเคราะห์ไปรายงานเป็นแผนที่ระบุความเสี่ยงเพื่อแจ้งเตือนและวางแผนรับมือ


หัวหน้าทีมนักวิจัยยังระบุว่า ประเทศไทยสามารถใช้วิธีนี้ตรวจเฝ้าระวังสายพันธ์โอไมครอน ที่ทั่วโลกกำลังวิตก โดยเก็บตัวอย่างน้ำเสียน้ำทิ้งจากเครื่องบินลำที่เข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งจะให้ค่าอย่างละเอียดว่ามีผู้มีติดเชื้อโควิดมาด้วยหรือไม่ และสายพันธุ์ใด แม้ไม่ทราบว่าเชื้อมาจากใคร แต่ในระบบเฝ้าระวังเชื่อว่าจะตรวจสอบได้ไม่ยาก


การประยุกตใช้การตรวจโควิดน้ำเสีย ที่ซึ่งเรียกว่า Wet-Water base-Epidemiology หรือระบาดวิทยาน้ำเสีย มี 58 ประเทศที่ใช้วิธีนี้ เช่นเนเธอแลนด์, สเปน, อิสราเอล, เยอรมัน และสหรัฐเป็นต้น เพราะทั้งประหยัดกว่า ได้ผลพื้นที่กว้าง และรู้ล่วงหน้า


ขณะที่ประเทศไทยนำร่องไปแล้วใน 4 จังหวัด คือนครสวรรค์ พิษณุโลก ตาก และเชียงใหม่ ซึ่งส่งผลดีต่อการกำหนดแผนรับมือการระบาดของพื้นที่ดังกล่าวไปแล้ว


คุณอาจสนใจ