WHO จัดโควิด 'โอไมครอน' เป็นสายพันธุ์น่ากังวล ทั่วโลกผวา คุมเดินทาง ทุบหุ้น-น้ำมันร่วง

ต่างประเทศ

WHO จัดโควิด 'โอไมครอน' เป็นสายพันธุ์น่ากังวล ทั่วโลกผวา คุมเดินทาง ทุบหุ้น-น้ำมันร่วง

โดย passamon_a

27 พ.ย. 2564

889 views

องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งชื่อโควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ ที่พบในแอฟริกาใต้แล้ว ชื่อว่า โอไมครอน (Omicron) ระบุเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล หรือ VOC (variant of concern) ด้านสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศ ประกาศควบคุมการเดินทางใน 7 ชาติแอฟริกาแล้ว


โอไมครอน หรือ ออมิครอน เป็นอักษรกรีกตัวที่ 15 ซึ่งองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ด้วยการกลายพันธุ์ของไวรัสที่พบมากกว่า 30 ตำแหน่ง ทำให้เชื้อไวรัสตัวนี้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ตัวที่ 5 ที่อนามัยโลกจัดให้เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวลต่อจาก อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา


อนามัยโลก ระบุว่า ได้รับรายงานเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์โอไมครอน จากแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา และนอกจากจะพบผู้ติดเชื้อในแอฟริกาใต้แล้ว ยังพบในบอตสวานา ฮ่องกง อิสราเอล ล่าสุดพบที่เบลเยียม และเป็นชาติแรกของยุโรปที่พบผู้ติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์โอไมครอน


จากหลักฐานต่าง ๆ บ่งชี้ว่า ไวรัสโอไมครอน หรือชื่อทางวิทยาศาสาตร์ว่า B.1.1.529 นี้มีความเปลี่ยนแปลงที่เป็นอันตราย พบการกลายพันธุ์มากกว่า 30 ตำแหน่ง มากกว่าโควิดเดลตา ถึง 2 เท่า ทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลว่า การกลายพันธุ์ดังกล่าวอาจจะทำให้เชื้อไวรัสมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของวัคซีนได้ นั่นหมายความว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนในปัจจุบันที่จะต้านทานไวรัส อาจลดน้อยลง


อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ในทันทีว่า โอไมครอน จะแพร่ระบาดรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า วัคซีนที่มีอยู่จะมีประสิทธิภาพ เพียงพอต่อการต้านทานไวรัสหรือไม่ ซึ่งอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญอังกฤษ ระบุว่า ต้องใช้เวลา 2 ถึง 3 สัปดาห์ เพื่อศึกษาเชื้อกลายพันธุ์นี้อย่างละเอียด


ขณะที่หลายประเทศตั้งแต่สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป สิงคโปร์ อิสราเอล ญี่ปุ่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เริ่มประกาศใช้มาตรการควบคุมการเดินทางประเทศในแอฟริกาตอนใต้ 6 ประเทศแล้ว ได้แก่ แอฟริกาใต้ นามิเบีย ซิมบับเว บอตสวานา เลโซโท และเอสวาตินี่ ขณะที่สหรัฐฯเป็นประเทศล่าสุดที่ระงับเที่ยวบินทั้ง 6 ประเทศดังกล่าว และเพิ่มอีก 1 ประเทศคือ มาลาวี จะเริ่มมีผลในวันจันทร์ที่จะถึงนี้


ด้าน ดร.แอนโทนี่ ฟาวซี่ ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ และเป็นที่ปรึกษาระดับสูงของทำเนียบขาว เชื่อมั่นว่า วัคซีนจะยังคงช่วยป้องกันผู้ที่ติดเชื้อไม่ให้มีอาการหนักได้


ขณะที่สนามบินนานาชาติในกรุงเคปทาวน์ ของแอฟริกาใต้ เมื่อวานนี้ชาวต่างชาติต่างรีบเดินทางออกจากแอฟริกาใต้ ก่อนที่มาตรการห้ามการเดินทางของประเทศต่าง ๆ จะเริ่มมีผลบังคับใช้


ด้าน นายโจ ฟาห์ลา รัฐมนตรีสาธารณสุขแอฟริกาใต้ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ประเทศต่าง ๆ ที่แห่ประกาศห้ามการเดินทางว่า ไม่ยุติธรรมและขัดต่อมาตรการของอนามัยโลก และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า โควิดกลายพันธุ์โอไมครอน จะมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วแต่อย่างใด


ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกก็ออกมาเตือนประเทศต่าง ๆ อย่าเพิ่งเร่งรีบออกมาตรการควบคุมการเดินทาง ขอให้พิจารณาความเสี่ยง โดยยึดหลักทางวิทยาศาสตร์ แต่ดูเหมือนว่า คำร้องขอของอนามัยโลกไม่เป็นผล เพราะตอนนี้หลายประเทศประกาศระงับเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกประเทศในแอฟริกาตอนใต้แล้ว โดยเฉพาะยุโรป


นางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ออกมาบอกตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้วว่า ยุโรปจะต้องออกมาตรการควบคุมการเดินทางอย่างรวดเร็ว และเด็ดขาด ก่อนที่โควิดสายพันธุ์นี้จะเข้ามาในยุโรป ขณะที่ญี่ปุ่นประกาศวันนี้ว่า นักเดินทางจากประเทศในแอฟริกาตอนใต้จะต้องถูกกักตัว 10 วัน และในระหว่างนั้นจะต้องตรวจโควิดทั้งหมด 4 ครั้ง ส่วนอินเดีย เมื่อวานนี้รัฐบาลส่งหนังสือไปถึงมุขมนตรีทุกแคว้นให้ตรวจสอบนักเดินทางที่มาจากแอฟริกาใต้ บอตสวานา และฮ่องกง อย่างเคร่งครัด


ขณะที่อิหร่าน ห้ามนักเดินทางจาก 7 ประเทศในแอฟริกาตอนใต้เข้าประเทศ พลเรือนอิหร่านที่เดินทางมาจาก 7 ประเทศดังกล่าว จะต้องตรวจโควิด 2 ครั้งหลังเดินทางเข้ามาแล้ว ส่วนสิงคโปร์ มาเลเซียและฟิลิปปินส์ระงับเที่ยวบินจาก 7 ประเทศในแอฟริกาตอนใต้ พลเมืองของตนที่เดินทางมาจาก 7 ประเทศตอนใต้แอฟริกาต้องกักตัวที่บ้าน 10 วัน


ชมผ่าน YouTube ได้ที่นี่ : https://youtu.be/tK2izOkUZGo

คุณอาจสนใจ

Related News