กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงนำข้าราชการและนักเรียนนายร้อย จปร. ไปทัศนศึกษา ที่ จ.เพชรบุรี

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงนำข้าราชการและนักเรียนนายร้อย จปร. ไปทัศนศึกษา ที่ จ.เพชรบุรี

โดย panwilai_c

25 พ.ย. 2564

120 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำข้าราชการและนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ไปทัศนศึกษาสถานที่สำคัญในจังหวัดเพชรบุรี


วันนี้เวลา 08.31 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ทรงนำข้าราชการ และนักเรียนนายร้อย ชั้นปีที่ 4 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ไปทัศนศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์วันที่ 2 ที่จังหวัดเพชรบุรี ในการนี้ทรงวางพวงมาลัย ถวายราชสักการะพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ แล้วทรงขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ บทรักชาติ บ้านเมือง


พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน สร้างขึ้นเมื่อปี 2466 - 2467 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นที่ประทับแปรพระราชฐาน มีสถาปนิกชาวอิตาเลียนเป็นผู้ออกแบบ จึงเป็นสถาปัตยกรรมเรือนไทยผสมยุโรปที่สร้างด้วยไม้สักทอง ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ดินเพิ่มเติมกว่า 1,300 ไร่ เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ประกอบด้วย หมู่พระที่นั่งสมุทพิมาน และหมู่พระที่นั่งพิศาลสาคร มีสโมสร เป็นท้องพระโรง มีสถานที่แสดงละคร และประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถาน เมื่อปี 2524


โอกาสนี้ ทรงติดตามการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีพื้นที่กว่า 8,700 ไร่ ดำเนินการศึกษาการฟื้นฟูสภาพป่า อนุรักษ์ และพัฒนาแหล่งน้ำ โดยสนองพระราชดำริ ในการขยายพันธุ์พืชให้เพียงพอ และเก็บเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพ ซึ่งประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสับปะรด ,เพาะเลี้ยงไม้เศรษฐกิจที่อยู่ในความสนใจ และทรงติดตามการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก ในการฟื้นฟูบำรุงดิน ทำให้หน้าดินมีความอุดมสมบูรณ์


การทัศนศึกษาที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันครั้งนี้ ช่วยให้นักเรียนนายร้อย ได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ ในการรักษามรดกทางวัฒนธรรม ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้ให้รุ่นหลัง


เวลา 11.27 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ อำเภอท่ายาง ในการนี้ ทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากนั้น ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการจัดซื้อที่ดินจากราษฎร จำนวน 250 ไร่ และมีพระราชดำริ ให้จัดทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจ ในพื้นที่อำเภอท่ายางและใกล้เคียง โดยพระราชทานชื่อว่า "โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ" จากการดำเนินงานทำให้พื้นที่ที่เคยแห้งแล้งในอดีต กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ ในปีนี้มีเกษตรกร และผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้เยี่ยมชมโครงการฯ รวม 7,327 คน


ในด้านพลังงานทดแทน ทรงมีพระราชดำริให้โครงการฯ เป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงานสะอาด จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ดำเนินโครงการจัดสร้างกังหันลมต้นแรก ที่เหมาะสมกับความเร็วลมในประเทศไทย มีศูนย์วิจัยและบริการด้านพลังงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนองพระราชดำริ นำพลังงานธรรมชาติ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า จำนวน 20 ต้น และติดตั้งระบบพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ทำให้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ สามารถขายพลังงานไฟฟ้า ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในจุดนี้ ทำให้นักเรียนนายร้อย ได้เรียนรู้งานด้านวิศวกรรม ชนิดและการทำกังหันลม


ส่วนด้านการเพาะปลูกพืช เน้นการทำเกษตรแบบอินทรีย์ควบคู่กับเกษตรอุตสาหกรรม แบ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชผักสวนครัว , ไม้ผล และพืชเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรีได้เข้ามาจัดทำแปลงสาธิตการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ในพื้นที่ 3 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 ซึ่งลักษณะเด่นคือ มีน้ำตาลต่ำเหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ อายุเก็บเกี่ยวสั้น 95 วัน


เวลา 14.47 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดกำแพงแลง อำเภอเมือง หรือวัดเทพปราสาทศิลาแลง สันนิษฐานว่าวัดนี้ เป็นเทวสถานในสมัยขอม สร้างตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อลัทธิพราหมณ์เสื่อมถอย จึงกลายเป็นวัดร้าง ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการบูรณะ แต่ยังคงปรากฏอารยธรรมขอมผ่านกำแพงศิลาแลง ทำให้เป็นที่มาของชื่อวัด หมายถึงกำแพงวัดที่ก่อด้วยศิลาแลง ภายในมีปรางค์ขนาดใหญ่ 5 องค์ ก่อด้วยศิลาแลง ปรางค์ประธานตั้งอยู่ตรงกลาง และอีก 4 องค์ตั้งอยู่ทั้งสี่ทิศ ประดิษฐานเทวรูปเคารพ


จากนั้น ประทับรถรางพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร โอกาสนี้ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งพระประธานอุโบสถ วัดแห่งนี้ เชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณ และในการบูรณะช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้พบจารึกอักษรไทยสมัยอยุธยา เขียนว่า "ดอกไม้ชอนกัน " หมายความว่า วาดรูปดอกไม้ซ้อนกัน ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ และประตู มี 3 เรื่องสำคัญ เรื่องแรกเกี่ยวกับอารักษ์มีคติจีนกับไทย เรื่องที่ 2 เป็นพุทธประวัติตอนผจญมาร และเรื่องที่ 3 พุทธประวัติตอนเทพชุมนุม ทั้งนี้การมีอิทธิพลของจีนปรากฏอยู่ สะท้อนได้ว่าเมืองเพชรบุรี มีความเจริญทางเศรษฐกิจกับจีนเป็นอย่างดี ที่ด้านหลังพระประธาน มีพระพุทธรูปพระบาทเบื้องขวามี 6 นิ้ว มีอายุเก่าแก่ เชื่อว่าแสดงถึงปริศนาธรรม ส่วนศาลาการเปรียญ เป็นอาคารที่หลงเหลือมาจากสมัยอยุธยา สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง เดิมเป็นพระตำหนัก ซึ่งสมเด็จพระเจ้าเสือ ถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชแตงโม ในขณะนั้น


จากนั้น ประทับรถรางพระที่นั่งไปยังวัดพลับพลาชัย ที่สร้างขึ้นในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเคยเป็นที่ประชุมกองทัพ และเคยมีพลับพลาที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เมื่อมีการสร้างวัด จึงเรียกชื่อวัดพลับพลาชัย ในการนี้ ทรงวางพวงมาลัยสักการะพระประธาน ณ วิหารคันธารราฐ หรือพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วิหารนี้ มีสถาปัตยกรรมเด่นที่ฐานวิหารโค้ง เป็นรูปสำเภา ตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ภายในจัดแสดงหนังใหญ่ การละเล่นพื้นบ้านของเมืองเพชรบุรี ที่มีชื่อเสียงเรียกว่า "หนังใหญ่วัดพลับ" ต่อมาได้สูญหายไปเนื่องจากขาดผู้สืบทอด แต่คงเหลือตัวหนังใหญ่อายุกว่า100 ปีเก็บรักษาไว้ และเป็นหนังใหญ่ชุดที่จัดการแสดงเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการเชิดหนังใหญ่ของวัดพลับพลาชัย และวัดขนอนหนังใหญ่


จากนั้น ทอดพระเนตรการสาธิตการปักเครื่องแต่งกายละครชาตรี ณ ศูนย์วิจัยชุมชนเมืองเพชรบุรี ที่เป็นการปักด้วยเลื่อม ปัจจุบันยังคงมีการแสดงละครชาตรีในงานแก้บน


เวลา 17.24 น. เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 เพื่อเป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำ และวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งเป็นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นเมือง ชาวไทยทรงดำ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เรียกว่า ชนเผ่าไทยทรงดำ , ไทดำ หรือลาวโซ่ง ซึ่งจังหวัดเพชรบุรี มีชาวไทยทรงดำอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทย โดยอพยพมาจากเมืองแถง แคว้นสิบสองจุไท หรือ เมืองเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และยังคงรักษาวัฒนธรรม ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ไว้อย่างครบถ้วน อาทิ ลักษณะของบ้านเรือน มีหลังคาทรงโค้งรูปกระดองเต่า , มีระเบียงด้านหน้าบ้าน เรียกว่า "กางจาน"เป็นที่รับแขก , การแต่งกาย , ทรงผม ที่แสดงถึงสถานภาพการสมรส และช่วงอายุ มีอาชีพหลัก คือ ทำนา สำหรับอำเภอเขาย้อย มีกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ส่วนใหญ่มีเชื้อสาย "ไทยทรงดำ" บางส่วนเป็นชาว "ไทยเวียง" กลุ่มชาติพันธุ์ ที่อพยพมาจากนครเวียงจันทร์ และชาว "ไทยพวน" กลุ่มชาติพันธุ์ ที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในแคว้นเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จึงเรียกอำเภอเขาย้อยนี้ว่า "เขาย้อยเมือง 3 ลาว"


โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ข้าราชการ และนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงนำทัศนศึกษา ณ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ของจังหวัดราชบุรี และจังหวัดเพชรบุรี ทำให้ได้เรียนรู้โบราณสถาน วิถีชีวิตของชุมชน นาฏศิลป์ การละเล่นพื้นบ้าน และวัฒนธรรมด้านอาหาร รวมถึงหน่วยงานที่มีบทบาท สนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอยู่คู่สังคมไทยสืบไป