กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงนำข้าราชการ และนักเรียนนายร้อย จปร. ไปทัศนศึกษา จ.ราชบุรี-เพชรบุรี

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงนำข้าราชการ และนักเรียนนายร้อย จปร. ไปทัศนศึกษา จ.ราชบุรี-เพชรบุรี

โดย panwilai_c

24 พ.ย. 2564

333 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำข้าราชการ และนักเรียนนายร้อยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ไปทัศนศึกษาสถานที่สำคัญในจังหวัดราชบุรี และจังหวัดเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 24 ถึง 25 พฤศจิกายน 2564


วันนี้ เวลา 8 นาฬิกา 40 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด ในพระบรมราชูปถัมภ์ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ทรงนำข้าราชการ และนักเรียนนายร้อย ชั้นปีที่ 4 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งกำลังศึกษาวิชาเลือกเสรี วิชาหัวข้อพิเศษทางประวัติศาสตร์ : ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย และวิชาประวัติศาสตร์ไทย ภาคภาษาอังกฤษ ภาคการศึกษาที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2564 ทัศนศึกษาการดำเนินงานของสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริ การส่งเสริมการเลี้ยงโคนมและแปรรูปน้ำนม เป็นผลิตภัณฑ์นมของประเทศ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดตั้งโรงงานนมผงชื่อ "บริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพ จำกัด" ในปี 2515 เพื่อแก้ปัญหาการไม่มีที่ขายน้ำนมดิบ ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์


ตลอดระยะเวลา 50 ปี ได้ดำเนินกิจการตามแนวพระราชประสงค์ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการเป็นที่พึ่งของสมาชิก ปัจจุบัน มีสมาชิก 4 พัน 400 ครอบครัว เลี้ยงโคนมกว่า 4 หมื่นตัว สามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก มีการนำนวัตกรรมการแปรรูปมาใช้ในการแปลงนมดิบ เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ เช่น ผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์ , ผลิตภัณฑ์นมยู.เอช.ที. , นมผง , ไอศกรีม, เนย และโยเกิร์ต


เวลา 10 นาฬิกา 12 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ทอดพระเนตรนิทรรศการจัดแสดงประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และพัฒนาการในด้านต่างๆ ของจังหวัด จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2529 เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา อนุรักษ์ และเผยแพร่ ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ประกอบด้วยอาคาร จัดแสดงนิทรรศการถาวร เดิมเป็นศาลากลางจังหวัดราชบุรี สร้างขึ้นในปี 2465 ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตก ได้รับการขึ้นทะเบียนอาคารเป็นโบราณสถานของชาติแล้ว ภายในเน้นการจัดแสดงเรื่องราวของท้องถิ่น


ทั้งด้านธรณีวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้าน ชาติพันธุ์วิทยา แหล่งท่องเที่ยว และบุคคลสำคัญของจังหวัด อาทิ แหล่งกำเนิดทรัพยากรธรรมชาติ ที่พบในจังหวัดราชบุรี , ราชบุรีในวัฒนธรรมทวารวดี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-15 โดยเฉพาะเรื่องราวของเมืองโบราณคูบัว และเทือกเขางู , กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดราชบุรี เช่น ชาวไทยลาวโซ่ง ชาวไทยมอญ และชาวไทยยวน ที่เป็นลักษณะเด่นของจังหวัด และห้องราชบุรี ราชสดุดี จัดแสดง พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีต่อจังหวัดราชบุรี ส่วนอีกอาคาร เป็นพื้นที่จัดนิทรรศการหมุนเวียน และกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ เดิมเป็นจวนที่พักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค ) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


การทัศนศึกษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรีครั้งนี้ จะช่วยให้นักเรียนนายร้อย ได้เพิ่มพูนความรู้ และเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ของจังหวัด รวมถึงมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ที่สอดคล้องกับการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในสถานที่จริงด้วยตนเอง


เวลา 12 นาฬิกา 25 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปยังศาลเจ้าพ่อหลักเมืองราชบุรี ค่ายภาณุรังษี กรมการทหารช่าง อำเภอเมือง ในการนี้ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ของจังหวัดราชบุรี ซึ่งมีพิธีฝังหลักเมืองเมื่อปี 2360 ในสมัยรัชกาลที่ 2 ต่อมามีการจัดระเบียบหัวเมืองขึ้นใหม่ โดยย้ายเมืองราชบุรีกลับไปตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง แต่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ยังคงตั้งอยู่ที่เดิม บริเวณกำแพงเมืองเป็นที่ตั้งของกรมทหารบกราบที่ 4 และเป็นที่ตั้งของค่ายภาณุรังษีในปัจจุบัน กรมศิลปากร ได้ออกแบบสร้างศาลขึ้นใหม่ มีลักษณะเป็นมณฑปยอดปรางค์ ทรงจตุรมุข ยกพื้น 2 ชั้น ภายในประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประกอบด้วย หลักเมือง เจว็ด และพระพิฆเนศ 2 องค์ ซึ่งจะมีงานสักการะเจ้าพ่อหลักเมือง ในเดือนเมษายนของทุกปี


จากนั้น ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ทหารช่าง ค่ายภาณุรังสี ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 2512 เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และความสำคัญของทหารช่าง ปัจจุบันมีหน่วยงาน ตลอดจนประชาชนทั่วไป มอบวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือช่างที่ชำรุด ให้กับพิพิธภัณฑ์ แบ่งการจัดแสดงเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนภายนอกอาคาร จัดแสดงยุทโธปกรณ์ และเครื่องมือช่างที่เคยใช้ในยามสงคราม และใช้ในการพัฒนาประเทศ อาทิ สว่านเจาะดิน เครื่องกำเนิดไฟฟ้า รถโยกตรวจทางรถไฟ


ส่วนอาคารชั้นเดียว จัดแสดงเกียรติประวัติบุคคลสำคัญ และภารกิจของเหล่าทหารช่าง อาทิ ห้องทหารช่างในอดีต แสดงการสร้างทางรถไฟ การขุดอุโมงค์ขุนตาน สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และเครื่องมือช่างสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 , ห้องทหารช่างพัฒนาประเทศ จัดนิทรรศการโครงการทหารพันธุ์ดี ตลอดจนภารกิจการสร้างเส้นทางเพื่อความมั่นคง โครงการสนับสนุนรัฐบาล และช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ยังมีอาคารไม้ 2 ชั้น สร้างขึ้นในปี 2492 เดิมเป็นอาคารเรือนรับรอง ต่อมาใช้จัดแสดงวัตถุพิพิธภัณฑ์ แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ และบทบาทของทหารช่างที่ผ่านมา


เวลา 13 นาฬิกา 10 นาที วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุวรวิหาร อำเภอเมืองราชบุรี โอกาสนี้ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง สักการะพระมงคลบุรี และพระศรีนัคร์ พระประธาน 2 องค์ ที่ประดิษฐานภายในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยปูนปั้น ศิลปะอยุธยาตอนต้น ขนาดหน้าตักกว้าง 4 เมตร 25 เซนติเมตร ซึ่งหันพระปฤษฎางค์ชนกัน หันพระพักตร์ไปทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ความหมายคือ อาราธนาให้ช่วยระวังภัยพิบัติ รักษาเมือง ตามความเชื่อในสมัยอยุธยา


จากนั้น ทรงนำนักเรียนนายร้อย เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของปูชนียสถานสมัยทวารวดี ในบริเวณวัดมหาธาตุวรวิหาร ซึ่งเดิมเรียกว่า วัดหน้าพระธาตุ หรือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สันนิษฐานว่า สร้างตั้งแต่สมัยทวารวดี ต่อมามีการสร้างศาสนสถาน เรียกว่า ปราสาทในศิลปะเขมร ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 เพื่อเป็นศูนย์กลางของเมือง ตามความเชื่อเรื่องคติจักรวาลของเขมร ต่อมาได้ชำรุดตามกาลเวลา จึงมีการสร้างขึ้นใหม่ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 20 ถึง 21 เรียกว่าพระมหาธาตุเมืองราชบุรี


ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ขนาดใหญ่ เรียกว่าปรางค์ประธาน มีเจดีย์ทรงปรางค์เป็นบริวารอีก 3 องค์ องค์พระมหาธาตุ ตั้งอยู่บนฐานก่อด้วยศิลาแลง เรือนธาตุก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ฉาบปูนประดับด้วยลายปูนปั้น ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออก อีกสามด้านประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ที่หน้าซุ้ม มีภาพปูนปั้นเรื่องพุทธประวัติ ภายในคูหาพระมหาธาตุมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เกี่ยวกับพุทธประวัติ ความสูงของพระปรางค์จากพื้นดินถึงยอดประมาณ 34 เมตร โดยรอบมีระเบียงคตที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนใหญ่สลักจากหินทรายสีแดง สันนิษฐานว่า บริเวณนี้เดิมเคยเป็นส่วนท้ายของวิหารหลวง ปัจจุบันวัดมหาธาตุวรวิหาร มีพระธรรมปัญญาภรณ์ เป็นเจ้าอาวาส


ต่อมาเวลา 14 นาฬิกา 10 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปยังบริษัท เถ้าฮงไถ่ จำกัด อำเภอเมือง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผา แห่งแรกของจังหวัดราชบุรี ที่สะท้อนถึงบทบาทของชาวจีน ในการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นในอดีต และปัจจุบัน โอกาสนี้ ทอดพระเนตร นิทรรศการศิลปกรรมดินเผา ประดับรอบพระเมรุมาศ ที่ออกแบบกระถางดินเผาเป็นพิเศษ มีทั้งหมด 8 รูป อาทิ กระถางเก้าเหลี่ยมประดับสัญลักษณ์เลข 9 , กระถางทรงกลมตามแบบกระถางในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และกระถางหูสิงห์ประดับตราพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร ที่มีลวดลาย ดอกดาวเรือง กระต่าย ลิง และดอกมะลิประกอบ แฝงถึงความหมายอันลึกซึ้ง ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


โรงงานแห่งนี้ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2476 โดยนายซ่งฮง แซ่เตีย ชาวจีนที่เคยทำงานเครื่องปั้นดินเผา และอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย ได้พบแหล่งดินในจังหวัดราชบุรี จึงทดลองศึกษาตัวอย่างดิน และพบว่าดินดี ขึ้นรูปได้ เมื่อเผาแล้วจะให้สีแดงต่างจากดินในพื้นที่อื่น ประกอบกับในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การซื้อขายสินค้ารวมถึงโอ่ง ไม่สามารถนำเข้าได้ ทำให้กิจการเครื่องปั้นดินเผาเติบโต ทำให้ผลิตภัณฑ์ "โอ่งลายมังกร" เป็นหนึ่งในสินค้าที่มีชื่อเสียง และอยู่ในคำขวัญประจำจังหวัด ต่อมาเมื่อความจำเป็นในการใช้โอ่งเก็บน้ำลดลง ทางโรงงาน ได้ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผา ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ภายในบ้าน และพัฒนาเป็นงานศิลปะที่สวยงาม และใช้ประโยชน์ได้จริง เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง


จากนั้น เวลา 15 นาฬิกา 28 นาที ทรงนำนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ไปทัศนศึกษาโบราณสถานเมืองคูบัว บริเวณวัดโขลงสุวรรณคีรี เป็นโบราณสถานสมัยทราวดี หมายเลข 18 ซึ่งกรมศิลปากร สำรวจเมื่อปี 2500 พบว่าเป็นเนินดิน มีขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สันนิษฐานว่าเป็นฐานของวิหาร ด้านบนฐานวิหารชั้นล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง ลักษณะคล้ายกับที่เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีการสร้างเมืองแบบวัฒนธรรมทราวดี โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี 2502 โบราณสถานเมืองคูบัว มีพระพุทธรูป 3 องค์ ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อแดง ปัจจุบันเหลือเพียง 1 องค์ ประดิษฐาน ณ วิหารวัดโขลงสุวรรณคีรี ในเมืองโบราณคูบัวยังพบโบราณสถานอีกจำนวนมาก ที่บ่งบอกถึงความเป็นศูนย์กลางทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงเป็นเมืองท่าที่มีการติดต่อค้าขายในอดีต


โอกาสนี้ ทอดพระเนตร วิถีชีวิตของชาวไทยยวน ที่บ้านคูบัว เป็นชุมชนชาวไทยวน อพยพมาจากเมืองเชียงแสน มาตั้งถิ่นฐานราว 200 ปีที่ผ่านมา และยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญา วัฒนธรรม การแต่งกาย โดยเฉพาะงานหัตถกรรม อาทิ การสาธิตทำขลุ่ยพื้นบ้าน , การทอผ้าซิ่นตีนจก ที่แสดงอัตลักษณ์ของชาวไท - ยวน ที่ยังสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น และการแสดงชุด ไท-ยวนย้ายแผ่นดิน เป็นการฟ้อนบอกเล่าที่มา ของการตั้งถิ่นฐานที่ได้รับอิทธิพลจากบรรพบุรุษ