“ไทยสร้างไทย” แนะ รัฐบาล ฟังข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ จี้ เร่งแก้ปัญหาดีกว่ามาตอบโต้

เลือกตั้งและการเมือง

“ไทยสร้างไทย” แนะ รัฐบาล ฟังข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ จี้ เร่งแก้ปัญหาดีกว่ามาตอบโต้

โดย attayuth_b

23 พ.ย. 2564

21 views

น.ส.เกณิกา ตาปสนันทน์ รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย ยืนยันว่าแนวทางการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการและประชาชน เพราะการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันสูงถึงลิตรละเกือบ 6 บาท ทำให้คนไทยต้องใช้น้ำมันราคาแพงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยยืนยันว่าน้ำมัน ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือยแต่เป็นปัจจัยการผลิตหรือสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์พิเศษจากรัฐ หรือสินค้าที่บริโภคแล้ว มีผลเสียต่อสุขภาพและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือสินค้าที่ก่อให้เกิดภาระแก่รัฐ หรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


การที่นายธนกร วังคงบุญชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย โดยอ้างว่าการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต จากสินค้าพลังงานเป็นแนวปฏิบัติสากล เป็นรายได้เพื่อการพัฒนาประเทศนั้น เป็นการกล่าวพาดพิง ประธานพรรคไทยสร้างไทย แบบขาดความรู้ คงหวังเพียงเอาใจนาย ด้วยการใช้ปากไต่เต้า เพื่อหาตำแหน่งทางการเมืองเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ ดังนั้นขอให้ นายธนกร รวมถึงพรรคการเมืองบางพรรค หัดรับฟังข้อเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน


"ขอให้โฆษกรัฐบาล กลับไปศึกษาข้อเท็จจริง ว่าในสมัยรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เก็บภาษีน้ำมันดีเซล จากพี่น้องประชาชน มหาโหดเพียงใด และการที่คุณหญิงสุดารัตน์ มองว่าการเก็บภาษีในลักษณะดังกล่าวไม่ต่างจากการ "รีดเลือดกับปู"ก็ไม่ได้ผิดไปจากความเป็นจริง เพราะในน้ำมัน 1 ลิตรประชาชนถูกรีดภาษี ทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม ถึง 8 บาทต่อลิตร หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของราคาน้ำมันต่อลิตร และเพิ่มสูงขึ้นกว่าทุกรัฐบาล เพราะจากในอดีตที่เคยเก็บภาษีสรรพสามิต ดีเซลลิตรละ 0.005 บาท ขึ้นเป็นลิตรละ 5.99 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1พันเท่า" น.ส.เกณิกา กล่าว


ดังนั้นโฆษกรัฐบาลต้องหัดรับฟังคนที่รู้จริง โดยหัดใช้สมองทำงาน มากกว่าปากทำงาน และขอให้เอาเวลาที่ใช้ไป กับการตอบโต้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ไปพิจารณาเร่ง แก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะ ปัญหาการว่างงานที่มีอัตราการสูงถึง 9 แสนคน ถือว่าสูงที่สุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด -19 มา ขณะที่หนี้สินภาคครัวเรือน ประเทศไทยพุ่งไปแตะที่ 14.24 ล้านล้าน หรือ 89.3 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสที่ผ่านมา

คุณอาจสนใจ

Related News