เลขาฯ กมธ.ดีอีเอส ยอมรับ "ทรู - ดีแทค" ควบรวมกิจการ อาจไม่ใช่ผลดีต่อผู้บริโภค

เทคโนโลยี

เลขาฯ กมธ.ดีอีเอส ยอมรับ "ทรู - ดีแทค" ควบรวมกิจการ อาจไม่ใช่ผลดีต่อผู้บริโภค

โดย pattraporn_a

22 พ.ย. 2564

65 views

ทรูประกาศควบรวมกับดีแทค เพื่อวางแผนการสร้าง Tech Company ให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ด้านเลขานุการคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งอาจไม่ใช่ผลดีกับผู้บริโภค


นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกลุ่ม ซีพี กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง ทรู และ ดีแทค โดยกลุ่มเทเลนอร์ ครั้งนี้ เป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจโทรคมนาคม สู่การเป็น เทค คอมปานี หลังจากมองเห็นทิศทางอุตสาหกรรมและข้อจำกัด ที่ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจและลูกค้าต่อไปได้ โดยบริษัทใหม่ จะมุ่งสร้างอีโคซิสเต็มด้านการลงทุนในทุกมิติ รวมถึง เอไอ และ เทคโนโลยีอวกาศ นอกเหนือจากเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่ โดยจะมีการตั้งกองทุนประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ และ เทค สตาร์ทอัพ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี ระดับภูมิภาคต่อไป


ด้าน นายซิกเว เบรคเก ซีอีโอ เทเลนอร์ กล่าวว่า ข้อสำคัญของดีลครั้งนี้ คือ การเป็นเจ้าของที่เท่าเทียมกัน ทั้ง ทรูและดีแทค เพื่อช่วยกันแสวงหาการลงทุนที่แข็งแกร่ง คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่มีมูลค่ากว่า 2.17 แสนล้านบาท จากนี้ทั้ง 2 บริษัท จะร่วมกันก่อตั้งอีกบริษัทขึ้นมา เพื่อเข้าซื้อกิจการ TRUE และ DTAC ให้มาอยู่ในบริษัทเดียวกัน โดยแลกกับหุ้นของบริษัทใหม่ ซึ่งจะทำให้มีลูกค้าที่เป็นผู้ใช้บริการเดิมของทั้ง 2 ค่ายในมือรวมกันทันที 51.3 ล้านเลขหมาย รวมรายได้ทะลุ 1.6 แสนล้านบาท มากกว่าเจ้าตลาดอย่าง AIS ที่ ปัจจุบันมีอยู่ 43.7 ล้านเลขหมาย มีรายได้อยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท


ส่วนความกังวลการควบรวมกิจการ จะเข้าข่ายการมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ชี้ว่า เป็นอำนาจ กสทช. ซึ่งต้องรอ กสทช.ตีความก่อน


เบื้องต้น นายเสมอกัน เที่ยงธรรม เลขานุการคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า ต้องรอให้ทั้งทรูและดีแทคแจ้งมายัง กสทช. อย่างเป็นทางการก่อน เพื่อพิจารณารายละเอียด เพราะเรื่องนี้เป็นเพียงการเปิดเผยอัตราส่วน และเปิดราคาสำหรับหุ้นเท่านั้น โดยยอมรับว่า อาจไม่ใช่เรื่องดีกับผู้บริโภค เนื่องจากคู่แข่งด้านโทรคมนาคมที่น้อยลง จึงต้องดูในรายละเอียดอีกครั้ง

คุณอาจสนใจ

Related News