แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม พุ่งติดเทรนด์ หลังศาลวินิจฉัย สมรสแค่ชาย-หญิง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

เลือกตั้งและการเมือง

แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม พุ่งติดเทรนด์ หลังศาลวินิจฉัย สมรสแค่ชาย-หญิง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

โดย nicharee_m

18 พ.ย. 2564

59 views

กลายเป็นประเด็นร้อน หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกฎหมายการสมรสปัจจุบัน ที่รับรองเฉพาะชาย-หญิง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้มีการเคลื่อนไหวจุดกระแสเรียกร้อง ผ่านแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม จนพุ่งติดเทรนด์ในโลกโซเชียล


คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สืบเนื่องหลังจากมีคู่รักเพศหญิงคู่หนึ่งไปขอจดทะเบียนสมรสเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ถูกนายทะเบียนปฏิเสธ จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรส หากนายทะเบียนปฏิเสธ ก็ขอให้ศาลส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ


ล่าสุดเมื่อวานนี้ มีคำวินิจฉัยโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาคของบุคคล


โดยมีข้อสังเกตว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป


เรื่องนี้ในโลกออนไลน์ มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ในวงกว้าง จนทำให้แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ อย่างรวดเร็ว


บางส่วนที่พูดถึงประเด็นนี้ มีทั้งบอกว่า “สมรสเท่าเทียม มันไม่ใช่เรื่องที่จะมานั่งร้องขอ แต่มันเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรมี เป็นสิทธิที่พึงได้รับ” หรือคนนี้ บอกว่า “ขอยืนอยู่ข้างทุกความรัก อย่าพูดสวยหรูว่าประเทศไทยเปิดกว้าง ถ้ายังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงกฎหมาย” “เราไม่ควรต้องลุ้นในเวลานี้แล้ว เพราะประชาชนควรได้เสรีภาพ สมรสเท่าเทียมควรที่จะเกิดขึ้น”


ขณะที่เช้านี้ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล 1 ในคนที่เคลื่อนไหวเรื่องการสมรสเท่าเทียม ยืนยันจะเดินหน้าผลักดันให้ประเทศไทยเปิดกว้างเรื่องนี้ ซึ่งพรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยการสมรส ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นก่อนบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม


โดยมีสาระสำคัญใน 4 ประเด็นหลัก คือ ผู้มีสิทธิ์หมั้นและสมรส เปลี่ยนจาก ‘ชายและหญิง’ เป็น ‘บุคคล-บุคคล’ อายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรส ปัจจุบัน 17 ปี เป็น 18 ปี การมอบของหมั้น ปัจจุบันใช้คำว่า ‘ชายหมั้นหญิง’ เป็น ‘ผู้หมั้น มอบให้ ผู้รับหมั้น’ และสุดท้าย การเข้าถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของรัฐ จากที่ระบุ ‘สามีและภรรยา’ เปลี่ยนเป็น ‘คู่สมรส’


ทางด้านรัฐบาลเอง โดยกระทรวงยุติธรรม ก็ได้เสนอร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ขณะนี้ก็เข้าสู่สภาไปแล้วเช่นกัน แต่ยังมีบางประเด็นที่กลุ่ม LGBT มองว่ายังไม่ครบถ้วน เช่น สถานะตามกฎหมาย ที่ใช้คำว่า คู่ชีวิต ขณะที่ร่างของพรรคก้าวไกล ใช้คำว่า คู่สมรส ซึ่งมีผลต่อสิทธิต่างๆ ที่ไม่ครอบคลุม

คุณอาจสนใจ

Related News