กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิด "ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา" จังหวัดระยอง

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิด "ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา" จังหวัดระยอง

โดย pattraporn_a

17 พ.ย. 2564

75 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิด "ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา" จังหวัดระยอง


วันนี้ เวลา 7 นาฬิกา 50 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด "ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา" อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายที่ดิน กว่า 154 ไร่ เมื่อปี 2558 เพื่อทรงใช้ประโยชน์ตามพระราชอัธยาศัย ต่อมาในปี 2561 ได้มีพระราชดำริให้พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ เผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตรสมัยใหม่ แก่นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ พระราชทานนามว่า "ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา" โดย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนองพระราชดำริ การดำเนินงาน ด้านอาคาร แหล่งน้ำ และระบบสาธารณูปโภค , งานพัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ ด้านการเกษตรสมัยใหม่ และงานอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ จนแล้วเสร็จใน 2564 และน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 65 พรรษา ในปี 2563 ภายในศูนย์การเรียนรู้เกษตรนวัตฯ ประกอบด้วย กลุ่มอาคารเรียนรู้ , พื้นที่ป่านิเวศ , พื้นที่ปลูกไม้ผล และกาแฟ , แหล่งน้ำ และระบบสาธารณูปโภค , โรงเรือนเพาะเมล็ด และโรงเรือนเพาะปลูก


จากนั้น ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงาน การบริหารจัดการแหล่งน้ำภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ ซึ่งกรมชลประทาน ร่วมกับสำนักงาน กปร. จัดทำระบบท่อส่งน้ำ เชื่อมต่อกับระบบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ คลองใหญ่ มายังบ่อน้ำ 2 แห่ง ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ ทำให้ปัจจุบัน มีน้ำเพียงพอสำหรับ อุปโภค-บริโภค รวมถึงประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้ง Solar Floating พร้อมระบบรดน้ำเพื่อการเกษตร และสาธารณูปโภคต่าง ๆ สามารถลดค่าไฟฟ้าได้กว่า 1 แสนบาทต่อปี มีประสิทธิภาพดีกว่าการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ที่อยู่บนพื้น ได้ถึงร้อยละ 8 ถึง 10 และลดการระเหยของน้ำ ในบริเวณพื้นที่ติดตั้งได้อีกด้วย และมีการปลูกหญ้าแฝกบริเวณรอบบ่อน้ำ แปลงไม้ผล รวมถึงพื้นที่ลาดชัน เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน เป็นแหล่งอาศัยของจุลินทรีย์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช


ต่อจากนั้น ประทับรถรางพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังแปลงนิเวศและพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งอยู่รอบศูนย์เรียนรู้ฯ มีการปลูกป่านิเวศ โดยการประยุกต์ใช้วิธีการปลูกป่าแบบมิยาวากิ (Miyawaki Method) ที่คัดเลือกพันธุ์ไม้ป่า 3 ชั้นเรือนยอด จำนวน 145 ชนิด รวม 21,886 ต้น เพื่อเป็นแนวป้องกันลมให้กับแปลงเกษตรกรรม รวมถึงช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ ปัจจุบันได้ปลูกสมุนไพรเสริม อาทิ เบญจรงค์ห้าสี , อบเชย , ตรีชวา เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ , ส่วนสวนสมรม เป็นการประยุกต์แนวคิด หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง , เกษตรทฤษฎีใหม่ , การปลูกป่านิเวศแบบศาสตราจารย์ อาคิระ มิยาวากิ , ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง , ระบบวนเกษตร และระบบการกักเก็บน้ำฝนไว้ในดิน เพื่อให้นักเรียนระดับชั้นปวช.สาขาวิชาเกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ได้เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากพันธุ์ไม้แต่ละชนิด จำนวน 469 สายพันธุ์ บนพื้นที่ 3.15 ไร่ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเตรียมพื้นที่ ปรับปรุงดิน และวางระบบน้ำ


จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการของนักเรียน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน อาทิ หลักสูตรทวิศึกษา ประกอบด้วย หลักสูตรฝึกงาน แผนการดำเนินโครงการในอนาคต และสิ่งประดิษฐ์สำหรับการเกษตร , หลักสูตรฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ได้แก่ นักเพาะกล้า คูโบต้าฟาร์ม นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เข้ามาสอนการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ด้วยพาราโบร่าโดม เช่น กล้วยตาก สมุนไพรอบแห้ง ส่วนกรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาส่งเสริมการเกษตรแก่พื้นที่โดยรอบ รวมทั้งสนับสนุนพันธุ์พืชต่าง ๆ


ต่อจากนั้น ทอดพระเนตร โรงเรือนปลูกผักสลัดและขึ้นฉ่าย ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ส่วนสถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล ได้นำเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายมาใช้ในโรงเรือน เพื่อดูแลการเจริญเติบโตของพืช มีการถ่ายทอดความรู้ และทักษะให้กับนักเรียน เพื่อนำระบบอัตโนมัติต้นทุนต่ำเพื่อการเกษตรมาใช้ นอกจากนี้ยังถ่ายทอดความรู้ การปลูกแตงเจอกิ้น และฟักทองสายพันธุ์ล้านนาระบบอินทรีย์ในโรงเรือน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยแตงเจอกิ้น เหมาะสำหรับการแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนฟักทองสายพันธุ์ล้านนา ได้พัฒนาต่อยอดมาจากพันธุ์พระราชทานโอโต๊ะ มีข้อดี คือ การให้สารพฤกษเคมี และให้ผลผลิตสูง สามารถเพิ่มมูลค่านำไปแปรรูป เป็นข้าวเกรียบฟักทอง แคปซูลฟักทอง ส่วนเมล็ดสกัดเป็นน้ำมัน


โอกาสนี้ ทอดพระเนตรวีดิทัศน์ "โครงการวังจันทร์รวมรัก ปลูกผักแบ่งปัน" และมีพระราชดำรัสกับคณะผู้บริหาร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา โดยทรงเล่าถึงการทรงงาน การเก็บเมล็ดพันธุ์ผัก เพื่อใช้แจกจ่ายให้กับราษฎร ขณะเกิดอุทกภัยในพื้นที่ต่าง ๆ และการทรงงานโครงการตามพระราชดำริ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ทำให้นักเรียนได้รับความรู้หลายด้าน สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต

Related News